นับตั้งแต่สถานีบรรจุและแยกสินค้ากล่องลาดกระบัง หรือ ICD ลาดกระบัง เปิดให้บริการเมื่อ 25 ปีก่อน จุดประสงค์หลักก็คือการอำนวยความสะดวกแก่ผู้นำเข้า-ส่งออกและบุคคลทั่วไป ในการเชื่อมต่อไปยังท่าเรือแหลมฉบัง ซึ่งเป็นท่าเรือน้ำลึกหลักสำหรับการนำเข้าส่งออกตู้สินค้าของประเทศไทย โดยมีขบวนรถไฟของการรถไฟแห่งประเทศไทยให้บริการกิจกรรมการขนส่งตู้สินค้าทั้งขาเข้าและขาออก ผ่านผู้ให้บริการทั้งหกราย

อย่างไรก็ตาม โดยปกติแล้ว รถไฟขนส่งตู้สินค้าจาก ICD ลาดกระบังหนึ่งขบวนจะจัดสรรพื้นที่ระวางตู้สินค้าให้แก่ผู้ให้บริการแต่ละราย ทำให้พื้นที่ระวางสินค้าที่ลูกค้าสามารถใช้ได้มีปริมาณจำกัด หากปริมาณตู้สินค้าของลูกค้ามีมากกว่าที่ตัวแทนได้รับการจัดสรรเอาไว้ ก็อาจต้องรอรถไฟขบวนถัดไป หรือต้องเลือกใช้รูปแบบการขนส่งรูปแบบอื่นแทน ทำให้เกิดความล่าช้าหรืออาจมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมได้

ล่าสุดเมื่อวันที่ 9 กันยายนที่ผ่านมา กลุ่มบริษัท CMA CGM ผู้ให้บริการขนส่งตู้สินค้าชั้นนำของโลกจากฝรั่งเศส ได้เปิดให้บริการรถไฟขนส่งตู้สินค้าเหมาขบวน (Block Train) จากสถานีบรรจุและแยกสินค้ากล่องลาดกระบัง ไปยังท่าเรือแหลมฉบัง เพื่อเชื่อมต่อกับบริการขนส่งทางเรือจาก CMA CGM และสายการเดินเรืออื่นๆ ในเครือ

โดยขบวนรถไฟขนส่งตู้สินค้าเหมาขบวนดังกล่าวจะให้บริการสำหรับตู้สินค้าของ CMA CGM โดยเฉพาะ ทางบริษัทฯ จึงสามารถบริหารจัดการปริมาณตู้สินค้าและกำหนดการเดินรถไฟได้อย่างสมบูรณ์ เพื่อให้เป็นประโยชน์สูงสุดแก่ลูกค้าผู้ใช้บริการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการให้บริการรถไฟขนส่งตู้สินค้าเหมาขบวน (Block Train) ในประเทศไทยนี้นับเป็นก้าวแรกของกลุ่มบริษัท CMA CGM ในทวีปเอเชียในการให้บริการขนส่งสินค้าทางรถไฟแบบเหมาขบวน

Mr. Benoit de Quillacq กรรมการผู้จัดการ CMA CGM ประเทศไทย กล่าวว่า “การตัดสินใจเหมาพื้นที่ระวางสินค้าบนรถไฟทั้งขบวน แทนที่จะใช้เพียงพื้นที่ระวางที่ได้รับการจัดสรรมา เป็นการยกระดับความน่าเชื่อถือให้แก่ลูกค้าของเรา โดยลูกค้าสามารถมั่นใจได้ว่าจะมีพื้นที่ระวางสินค้าเพียงพอ รวมทั้งได้รับการเชื่อมต่อภาคพื้นดินที่ลื่นไหลจากแหลมฉบังสู่ลาดกระบังสำหรับสินค้าขาเข้า ซึ่งเรามีบริการขนส่งสินค้าจากทั้ง CMA CGM และ CNC เข้าเทียบท่าที่ท่าเรือแหลมฉบังกว่า 20 เส้นทาง ในแต่ละสัปดาห์”

จุดเริ่มต้นของบริการรถไฟเหมาขบวนนี้เริ่มจากการที่ต้นทุนค่าบริการเรือขนส่งตู้สินค้าชายฝั่ง (Barge) ปรับตัวขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญในช่วงที่ผ่านมา CMA CGM จึงมองหาตัวเลือกอื่นในการให้บริการโดยที่ยังคงประสิทธิภาพเอาไว้ในระดับเดิมเอาไว้ ประจวบเหมาะกับการรถไฟแห่งประเทศไทยได้ประกาศลดราคาค่าระวางรถไฟพอดี บริษัทฯ จึงปรึกษากับทางการรถไฟแห่งประเทศไทยถึงความเป็นไปได้ในการพัฒนาบริการรถไฟขนส่งตู้สินค้าที่สามารถเหมาพื้นที่ระวางสินค้าทั้งขบวนได้

หลังจากวิเคราะห์ปัจจัยต่างๆ และพบว่าบริการดังกล่าวสามารถเกิดขึ้นได้ CMA CGM จึงประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจนในที่สุดก็สามารถเปิดให้บริการรถไฟขนส่งตู้สินค้าเหมาขบวนจาก ICD ลาดกระบังไปยังท่าเรือแหลมฉบังได้ ซึ่งความสำเร็จในการเปิดขบวนรถไฟแบบเหมาขบวนนี้ CMA CGM Thailand นับเป็นรายแรกของกลุ่มบริษัทในเอเชียที่สามารถทำได้สำเร็จ

ในขั้นต้น CMA CGM จะปฏิบัติการขบวนรถไฟขนส่งตู้สินค้าเหมาขบวนสี่เที่ยวต่อสัปดาห์ทุกวันพฤหัสบดีถึงวันอาทิตย์ เพื่อให้ทันขนถ่ายตู้สินค้าลงเรือที่เข้าเทียบท่าที่ท่าเรือแหลมฉบัง และออกเดินทางต่อไปยังปลายทางญี่ปุ่น สิงคโปร์ และสหรัฐอเมริกา โดยรถไฟแต่ละขบวนสามารถบรรทุกตู้สินค้าได้มากกว่า 60 ทีอียู เทียบเท่ากับรถบรรทุกหัวลากหลายสิบคันในการขนส่งปริมาณเท่ากัน ซึ่งสามารถช่วยลดการเผาผลาญเชื้อเพลิงได้เป็นปริมาณมาก อันสอดคล้องกับภารกิจหลักของกลุ่มบริษัทฯ ที่ให้ความสำคัญในการลดภาวะโลกร้อน นอกจากนี้บริการดังกล่าวไม่เพียงเป็นประโยชน์ต่อผู้ส่งออกเท่านั้น แต่โรงงานอุตสาหกรรมบริเวณใกล้เคียงกับ ICD ลาดกระบังก็สามารถใช้ประโยชน์จากบริการดังกล่าวในการนำเข้าวัสดุที่จำเป็นได้อีกด้วย

ที่สำคัญที่สุด บริการ Block Train จะช่วยเพิ่มความน่าเชื่อถือในการให้บริการของ CMA CGM ด้วยตัวเลือกในการขนส่งตู้สินค้าระหว่างกรุงเทพมหานครและท่าเรือแหลมฉบังที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นรถบรรทุกหัวลาก รถไฟเหมาขบวน และเรือขนส่งตู้สินค้าชายฝั่ง ทำให้บริษัทฯ สามารถวางแผนการจัดการตู้สินค้าได้อย่างคล่องตัวมากยิ่งขึ้น และลูกค้าก็มั่นใจได้ว่าตู้สินค้าจะเดินทางไปถึงที่หมายตรงตามกำหนดเวลาอย่างปลอดภัย

Environmental Approach

นอกจากการยกระดับความน่าเชื่อถือแล้ว อีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ทำให้กลุ่มบริษัท CMA CGM พัฒนาบริการรถไฟขนส่งตู้สินค้าเหมาขบวนขึ้นมาก็คือปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม

ปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมเป็นสิ่งที่ CMA CGM ให้ความสำคัญตลอดมา ซึ่งจากการวิจัยเปรียบเทียบระหว่างการขนส่งด้วยรถบรรทุกและขบวนรถไฟ การขนส่งทางรถไฟสามารถลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากกว่า 67 เปอร์เซ็นต์ ทำให้การขนส่งด้วยรถไฟเป็นรูปแบบการขนส่งที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่าสำหรับการขนส่งระยะทางไม่เกิน 100 กิโลเมตร ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้ได้ 40 เปอร์เซ็นต์ภายในปี 2030 และเป้าหมายการปลอดคาร์บอนไดออกไซด์ภายในปี 2050 ของกลุ่มบริษัท CMA CGM อีกด้วย

การเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ในครั้งนี้สะท้อนให้เห็นถึงความตั้งใจที่จะพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้งของ กลุ่มบริษัท CMA CGM ที่แม้จะเกิดอุปสรรคระหว่างการทำงาน แต่ด้วยความมุ่งมั่นและความพร้อมที่จะปรับตัวเข้ากับทางเลือกใหม่ๆ ทำให้กลุ่มบริษัท CMA CGM ทำสิ่งที่ดูเหมือนจะเป็นไปไม่ได้ ให้สามารถกลายเป็นจริงได้ขึ้นมา

สำหรับบริการรถไฟขนส่งตู้สินค้าเหมาขบวน (Block Train) จาก CMA CGM จะให้บริการขนส่งตู้สินค้าจาก ICD ลาดกระบังไปยังท่าเรือแหลมฉบังสัปดาห์ละสี่ขบวน และให้บริการขนส่งตู้สินค้าจากท่าเรือแหลมฉบังกลับไปยัง ICD ลาดกระบังสัปดาห์ละสามขบวน


อัพเดตข่าวสารและบทความที่น่าสนใจในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ก่อนใคร ผ่าน Line Official Account @Logistics Mananger เพียงเพิ่มเราเป็นเพื่อน @Logistics Manager หรือคลิกที่นี่

บทความก่อนหน้านี้ที ไอ พี เอส จัดกิจรรมร่วมบริจาคโลหิตแก่สภากาชาดไทย
บทความถัดไปZIM เตรียมเสริมประสิทธิภาพให้ Alibaba.com ผ่านเทคโนโลยีของ Ladingo
Pichanon Paoumnuaywit
tech and history geek, who enjoys hunting and photographing dark skies and milky way