บทสัมภาษณ์ ดร. พันเทียน สื่อทรงธรรม คนไทยที่ได้มีโอกาสปฏิบัติงานในท่าเรือ Hamburg เยอรมนี

0
2883

ความสนใจและความหลงใหลในสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ถือเป็นแรงผลักดันสำคัญที่ทำให้คนๆ หนี่งสามารถไล่ตามความฝันได้อย่างไม่ลดละ และท้ายที่สุดสามารถไขว่คว้าความฝันนั้นได้สำเร็จ จากความชอบด้านการเดินเรือ เครื่องยนต์ และนวัตกรรมเทคโนโลยีใหม่ๆ ทำให้คนไทยคนหนึ่งที่มีความมุ่งมั่น ได้ทุ่มเทเก็บเกี่ยวประสบการณ์และสั่งสมความรู้จนได้รับโอกาสในการเข้าร่วมปฏิบัติงานและเป็นหนึ่งในผู้พัฒนาโครงการชั้นนำเกี่ยวกับดิจิทัลประจำหนึ่งในท่าเรือชั้นนำของโลกอย่างท่าเรือ Hamburg

นิตยสาร LM ฉบับนี้ ได้มีโอกาสสัมภาษณ์ ดร. พันเทียน สื่อทรงธรรม หรือ คุณเอิ้น (Dr. Phanthian Zuesongdham) คนไทยที่ได้มีโอกาสปฏิบัติงานในท่าเรือ Hamburg ซึ่งเป็นท่าเรือสำคัญประจำเยอรมนีและเป็นหนึ่งในท่าเรือที่มีความก้าวหน้าที่สุดของโลก โดยการรับตำแหน่งหัวหน้าฝ่าย Digital & Business Transformation และหัวหน้าฝ่ายโครงการ smartPORT ประจำการท่าเรือ Hamburg เพื่อสอบถามเกี่ยวกับเส้นทางการเดินทางที่ทำให้เธอมาบรรจบที่ตำแหน่งหน้าที่การทำงานในปัจจุบัน รวมทั้งแรงบันดาลใจและประสบการณ์ต่างๆ ที่ส่งให้เธอทำตามฝันได้สำเร็จ และมุมมองที่ได้รับจากการทำงานร่วมกับหนึ่งในท่าเรือที่มีการพัฒนาอย่างรวดเร็วแห่งนี้

Making Dream Comes True

จากความชอบและสนใจด้านโลจิสติกส์ที่มีอยู่เป็นทุนเดิมที่ผลักดันให้ความฝันกลายเป็นความจริง ดร. พันเทียน เล่าว่าในช่วงที่ยังเป็นนักเรียนอยู่ได้มีโอกาสได้ขึ้นไปเยี่ยมชมเรือขนส่งสินค้าและสัมผัสการทำงานบนเรือที่แท้จริง จากพื้นฐานเดิมที่มีความชอบเกี่ยวกับเครื่องยนต์ต่างๆ อยู่แล้วนั้น เมื่อได้เห็นการทำงานและเรือจริงก็เกิดความประทับใจ และใฝ่ฝันที่จะเป็นกัปตันเรือ แต่ในขณะนั้น สถาบันสอนการเดินเรือในประเทศไทยยังไม่มีการเปิดรับสมัครกัปตันเรือหญิง เพื่อได้เข้าใกล้สิ่งที่เธอใฝ่ฝันมากที่สุด ดร. พันเทียน จึงตัดสินใจศึกษาระดับอุดมศึกษาที่คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยเลือกสาขาหลักทางด้าน International Transport Management และสาขารองด้าน Marketing เพื่อเก็บเกี่ยวความรู้ด้านโลจิสติกส์และสั่งสมประสบการณ์เพื่อเป็นทางเชื่อมในการต่อยอดความฝันในอนาคต โดยระหว่างที่ศึกษาอยู่ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ดร. พันเทียนได้มีโอกาสเข้าร่วมเป็นอาสาสมัครในคณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมของเอเชียและแปซิฟิกแห่งสหประชาชาติ (UNSCAP) และฝึกงานกับสายการบิน Lufthansa Cargo สายการบินขนส่งสินค้าชั้นนำสัญชาติ ทำให้มีพื้นฐานด้านการขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์

ดร. พันเทียน สื่อทรงธรรม หรือ คุณเอิ้น

ภายหลังจบการศึกษาในระดับปริญญาตรี ดร. พันเทียนทำงานกับทาง Lufthansa Cargo อีกเป็นเวลาสองปีครึ่ง แล้วได้ตัดสินใจศึกษาต่อในระดับปริญญาโทด้านบริหารธุรกิจ สาขา Logistics and Risk Management ที่มหาวิทยาลัย Hamburg ประเทศเยอรมนี รวมทั้งศึกษาต่อในระดับปริญญาเอกด้าน Maritime Logistics, Process Management, Transport Management, Project Cargo ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยี Hamburg อีกด้วย

ระหว่างที่เรียนปริญญาโท และปริญญาเอก ดร.พันเทียน ก็ได้ทำงานควบคู่มาตลอดในบริษัทพลังงาน BP และเก็บประสบการณ์จากการทำงานวิจัยและงานที่ปรึกษาที่เกี่ยวข้องกับโลจิสติกส์และการบริหารการท่าเรือ จน ดร. พันเทียนได้มีโอกาสเข้าร่วมปฏิบัติงานกับการท่าเรือ Hamburg (Hamburg Port Authority) ซึ่งเป็นสถานที่ปฏิบัติงานปัจจุบัน โดยการท่าเรือ Hamburg เป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจที่ดูแลและจัดการโครงสร้างพื้นฐานภายในท่าเรือ Hamburg รวมถึงดูแลการจราจรในพื้นที่ท่าเรือ เส้นทางการขนส่งทางน้ำทั้งทางแม่น้ำและทะเล รวมทั้งการขนส่งทางบกเช่นกัน

ตั้งแต่วันแรกที่เข้าปฏิบัติการจนถึงวันนี้ ก็นับเป็นเวลาเกือบเก้าปีแล้ว ซึ่ง ดร. พันเทียนถือเป็นหนึ่งในส่วนสำคัญที่ปฏิบัติการโครงการด้านดิจิทัลต่างๆ และร่วมผลักดันการพัฒนาภายในท่าเรือชั้นนำอย่างท่าเรือ Hamburg แห่งนี้

ดร. พันเทียน กล่าวว่า “ปัจจุบัน หน้าที่ที่รับผิดชอบนั้นจะเกี่ยวกับการเตรียมความพร้อมการจัดการด้านดิจิทัลเป็นหลักทั้งด้านเทคโนโลยี การพัฒนาวัฒธรรมองค์กร และการจัดการกระบวนการในระบบต่างๆ เพื่อพัฒนาศักยภาพของท่าเรือให้สามารถรองรับความต้องการจากผู้ที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ในอนาคตได้ โดยตั้งแต่ปี 2013 ท่าเรือ Hamburg ได้วางกลยุทธ์เพื่อพัฒนาท่าเรือให้สอดคล้องเป็นหนึ่งเดียวกัน โดยขณะนั้นมีการจัดโครงการต่างๆ มากมายเพื่อรองรับการเป็นเจ้าภาพการประชุมท่าเรือโลก จัดขึ้นโดยสมาคมท่าเรือระหว่างประเทศ (IAPH) ทั้งนี้ ในปี 2015 ทางท่าเรือ Hamburg ต้องการนำเสนอเทรนด์เทคโนโลยีใหม่ๆ และนำความคิดเหล่านั้นมาปรับใช้งานจริง จึงมีการใช้แบบจำลองโมเดลสามมิติที่ใช้ในการดูแลท่าเรือ ซึ่งปัจจุบันรู้จักกันในนามของเทคโนโลยี Digital Twin ที่ใช้เก็บบันทึกสำเนาข้อมูลต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสิ่งของ โครงสร้างพื้นฐาน หรือเครื่องจักรในรูปแบบดิจิทัล ซึ่งมีการผสมผสานระหว่างเทคโนโลยีหลากหลาย อาทิ เทคโนโลยีความเป็นจริงเสริม (Augmented Reality หรือ AR) เทคโนโลยีความเป็นจริงเสมือน (Virtual Reality หรือ VR) รวมถึงเทคโนโลยี Internet of Things (IoT) เพื่อตรวจสอบสถานะของท่าเรือ ความสามารถในการรองรับสินค้าภายในท่าเรือ การจราจรและการไหลเวียนสินค้าภายในท่าเรือ ซึ่งปัจจัยต่างๆ เหล่านี้มีความสำคัญต่อการปฏิบัติงานภายในท่าเรืออย่างมีประสิทธิภาพ”

Smart Port

นอกจากความรับผิดชอบด้านส่วนงานดิจิทัลแล้ว อีกหนึ่งหน้าที่หลักของ ดร. พันเทียน คือการดูแลโครงการ smartPORT ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งโครงการสำคัญของท่าเรือ Hamburg โดยมีจุดประสงค์เพื่อให้ท่าเรือเป็นหนึ่งในท่าเรือที่ทันสมัยและมีศักยภาพที่สุดในโลก

ท่าเรือ Hamburg เป็นท่าเรือใหญ่ที่สุดในเยอรมนีและตั้งอยู่ใจกลาง Hamburg เมืองใหญ่ลำดับที่สองรองจาก Berlin ซึ่งมีประวัติศาสตร์อันยาวนานคู่เมืองแห่งนี้มากว่า 800 ปี โดยที่ตั้งของท่าเรือและชุมชนที่อยู่อาศัยของผู้คนในเมืองถูกคั่นกลางด้วยแม่น้ำ Elbe ดังนั้น เพื่อการอยู่ร่วมกันระหว่างชุมชนท่าเรือและชุมชนประชากรอย่างมีความสุขและราบรื่น ท่าเรือจึงให้ความสำคัญกับการยกระดับการปฏิบัติการภายในท่าเรือให้มีประสิทธิภาพและโปร่งใสมาโดยตลอด

รูปภาพจาก Hamburg Port Authority

ทั้งนี้ โครงการ smartPORT เป็นการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีล่าสุดในการปฏิบัติงานภายในท่าเรือ เพื่อยกระดับการใช้พลังงานและโครงสร้างพื้นฐานในท่าเรือให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยมุ่งเน้นการปฏิบัติงานในสองส่วนหลัก ได้แก่ พลังงานและโลจิสติกส์ ทำให้ท่าเรือมีการลดการใช้พลังงาน ลดปัญหาด้านมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม และปรับปรุงเครือข่ายการขนส่งทุกรูปแบบ รวมถึงพัฒนาการจัดการคมนาคมภายในท่าเรือ เพื่อให้การไหลเวียนของสินค้าและการจราจรเป็นไปอย่างราบรื่น

ดร. พันเทียน กล่าวว่า “เราตระหนักถึงบทบาทของท่าเรือ Hamburg ในฐานะส่วนหนึ่งของเมือง Hamburg ที่ไม่สามารถแยกออกจากกันได้ เราเข้าใจมาโดยเสมอว่าการปฏิบัติการต่างๆ ภายในท่าเรืออาจส่งผลต่อเมืองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่เราสามารถบริหารจัดการการทำงานให้มีประสิทธิภาพได้ ไม่ว่าจะเป็นการกำหนดนโยบายทางยุทธศาสตร์ แผนแม่บทด้านสิ่งปลูกสร้างพื้นฐาน และการจัดการจราจร เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับชุมชนโดยรอบและเพื่อให้ง่ายต่อการตรวจสอบทั้งในด้านสิ่งแวดล้อม รวมถึงด้านเศรษฐกิจ”

ทั้งนี้ แผนการในอนาคตของท่าเรือ Hamburg ที่นอกจากพัฒนาสิ่งปลูกสร้างพื้นฐานภายในท่าเรือ เพื่อรองรับเรือขนส่งตู้สินค้าขนาดใหญ่แล้ว ยังต้องมีการทบทวนและปรับเปลี่ยนบทบาทของท่าเรือให้เท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงของซัพพลายเชนที่เข้าสู่โลกดิจิทัล จากการเติบโตอย่างต่อเนื่องของธุรกิจ e-Commerce และธุรกิจร้านค้าออนไลน์บนเว็บไซต์อย่าง Alibaba และ Amazon ที่มีแนวโน้มขยายขอบข่ายการให้บริการในอนาคต ตัวอย่างของการคำนึงการปรับใช้เทคโนโลยีใหม่ เช่น Blockchain จะกลายเป็นหนึ่งในเทคโนโลยีสำคัญต่อการกำหนดทิศทางของโลก ซึ่งผู้คนจากหลากหลายอุตสาหกรรมต่างให้ความสนใจอยู่ในขณะนี้

ดร. พันเทียน ให้ความเห็นในประเด็นนี้ว่า “เทคโนโลยี Blockchain จะเป็นทางเลือกใหม่ในการจัดเก็บและส่งต่อข้อมูลให้มีความปลอดภัยยิ่งขึ้น แม้ว่าอาจจะยังต้องมีการพัฒนาความเร็วเพื่อตอบสนองความต้องการของบริษัทต่างๆ ในการจัดเก็บข้อมูลที่มีความซับซ้อนมากขึ้นก็ตาม แต่ในอนาคต เทคโนโลยีดังกล่าวจะสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงให้แก่อุตสาหกรรมโลจิสติกส์ที่มีการส่งต่อข้อมูลที่จำเป็นในการขนส่งมากมาย นอกจากจะเป็นการลดความซับซ้อนในกระบวนการทางเอกสารแล้ว ยังช่วยสร้างความโปร่งใสให้แก่ซัพพลายเชน ทำให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมโลจิสติกส์มีความตื่นตัวต่อเทคโนโลยีนี้ เช่น สายการเดินเรือ Maersk ที่ได้ทำการก่อตั้งบริษัทร่วมทุนสำหรับเทคโนโลยี Blockchain ร่วมกับบริษัท IBM และท่าเรือ Singapore เพื่อคิดค้นบริการใหม่ ซึ่งช่วยให้การปฏิบัติการทางโลจิสติกส์เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เช่นเดียวกันกับท่าเรือเองก็ต้องมีความพร้อมสำหรับทุกเทรนด์เทคโนโลยีที่จะเกิดขึ้นอยู่ตลอด”

รูปภาพจาก Hamburg Port Authority

จะเห็นได้ว่าการมีความคิดที่เปิดกว้างรับความเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ เป็นหนึ่งในทัศนคติสำคัญในการทำงานของ ดร. พันเทียน รวมทั้งยังมีส่วนช่วยการปรับตัวในการทำงานท่ามกลางสังคมพหุวัฒนธรรมอีกด้วย “คนส่วนใหญ่มักมีภาพจำว่าชาวตะวันตกมีความสามารถมากกว่าคนเอเชียในทุกๆ ด้าน แต่ในความเป็นจริงแล้ว ทุกคนมีศักยภาพในการทำงานเท่าเทียมกัน แต่ละคนมีความสามารถที่แตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นคนเชื้อชาติไหนหรือสีผิวใดก็ตาม จากประสบการณ์ในการทำงานที่ท่าเรือ Hamburg วัฒนธรรมในการทำงานของชาวเยอรมันจะมีความทุ่มเทและพยายามมุ่งมั่นสู่เป้าหมายให้สำเร็จ ในทางกลับกัน คนไทยจะมีความยืดหยุ่นและประณีประนอมมากกว่า ทั้งนี้ ลักษณะนิสัยของคนแต่ละประเทศย่อมมีข้อดีข้อเสียแตกต่างกันออกไป สิ่งที่สำคัญในการทำงานโดยประสบความสำเร็จ เราต้องรู้จุดอ่อนจุดแข็ง และความรู้ที่คนแต่ละคนในกลุ่มการทำงานมี แล้วนำมาใช้ให้เต็มศักยภาพ รู้จักช่วยเหลือและต่อยอดความคิดซึ่งกันและกัน แต่เหนือสิ่งอื่นใดที่ทุกวัฒนธรรมต้องมีคือการให้เกียรติและเคารพผู้ร่วมงานซึ่งกันและกัน ไม่ว่าพวกเขาจะอยู่ในตำแหน่งใดก็ตาม” ดร. พันเทียน กล่าวทิ้งท้าย

จากประสบการณ์การขึ้นเรือของ ดร. พันเทียนในครั้งนั้นเป็นจุดเริ่มต้นของความหลงใหลในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ที่ทำให้เธอนำเอาศักยภาพทั้งหมดที่มีออกมาใช้อย่างเต็มที่ จนกลายเป็นแรงผลักดันและพัฒนาตัวเองให้มีโอกาสร่วมงานกับท่าเรือ Hamburg หนึ่งในท่าเรือหลักที่เป็นศูนย์กลางทางโลจิสติกส์ที่มีความสำคัญลำดับต้นๆ ของทวีปยุโรปและเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนการเติบโตของอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ระดับโลก

อัพเดตข่าวสารและบทความที่น่าสนใจในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ก่อนใคร ผ่าน Line Official Account @Logistics Mananger เพียงเพิ่มเราเป็นเพื่อน @Logistics Manager หรือคลิกที่นี่

บทความก่อนหน้านี้ONE Thailand จัดงานฉลองให้บริการครบหนึ่งปี
บทความถัดไปHutchison Ports Thailand เปิดท่าเทียบเรือ ชุด D ท่าเทียบเรือที่ทันสมัยที่สุดในไทยอย่างเป็นทางการ
tech and history geek, who enjoys hunting and photographing dark skies and milky way