e-Logistics Marketplace: ตลาดออนไลน์อัจฉริยะกับอุตสาหกรรมโลจิสติกส์แห่งอนาคต

0
6968

ปัจจุบันธุรกิจ e-Commerce ได้เข้ามามีบทบาทต่อวัฒนธรรมการซื้อขายสินค้าหรือบริการต่างๆ มากขึ้น การเลือกซื้อหรือเสนอขายสินค้าสามารถทำได้อย่างสะดวกสบาย เนื่องจากทุกวันนี้หลายธุรกิจได้นำเอาแพลตฟอร์มออนไลน์ ทั้งในรูปแบบเว็บไซต์และแอพพลิเคชั่น เข้ามาใช้เพื่อเป็นสื่อกลางในการติดต่อ พูดคุย แลกเปลี่ยน ซื้อ-ขายสินค้าหรือบริการ ระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย สำหรับอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ ปัจจุบันแพลตฟอร์ม ‘Logistics Marketplace’ ได้เริ่มเข้ามามีบทบาทในตลาดมากขึ้น และเป็นอีกหนึ่งช่องทางการซื้อ-ขายบริการโลจิสติกส์ที่หลายบริษัทกำลังให้ความสนใจ และถูกมองว่าอาจเป็นแพลตฟอร์มที่จะเข้ามาพลิกโฉมอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ได้ในอนาคตอันใกล้

แม้ว่า Logistics Marketplace เพิ่งจะเริ่มเข้ามามีบทบาทในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา แต่ปัจจุบันแพลตฟอร์มออนไลน์เพื่อธุรกิจโลจิสติกส์รูปแบบนี้กำลังมีแนวโน้มเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง ผู้ให้บริการโลจิสติกส์และผู้ใช้บริการหลายราย เริ่มหันมาให้ความสนใจและเลือกใช้บริการผ่านตลาดออนไลน์มากขึ้น นอกจากนี้ จากการสำรวจของ DHL Trend Research ใน Logistics Trend Radar 2016 ยังได้แสดงให้เห็นว่า Logistics Marketplace มีแนวโน้มที่จะกลายเป็นแพลตฟอร์มที่ส่งผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงต่ออุตสาหกรรมโลจิสติกส์ในอนาคตได้สูง

LM ได้มีโอกาสพูดคุยกับ คุณสิทธิศักดิ์ วงศ์สมนึก ผู้บริหารและผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท Man Innovation ผู้คิดค้นและให้บริการแพลตฟอร์มการจองบริการขนส่งสินค้าออนไลน์ในไทย ในชื่อ ‘Giztix’ เกี่ยวกับความเป็นมาและกลไกการทำงานของ Logistics Marketplace ตลอดจนโอกาสใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้นจากการใช้งานการซื้อ-ขายบริการขนส่งผ่านช่องทางออนไลน์รูปแบบใหม่นี้

Embracing New Technology

หลายคนอาจรู้จักแพลตฟอร์มซื้อ-ขาย แลกเปลี่ยนสินค้าออนไลน์ (Online Marketplace) ในตลาดการขายสินค้าทั่วไปหลากหลายธุรกิจแล้ว อาทิ ธุรกิจโรงแรม ร้านค้าออนไลน์ หรือแม้กระทั่งผู้ให้บริการรถแท็กซี่ สำหรับธุรกิจโลจิสติกส์การ นำเอาแพลตฟอร์มการจองบริการขนส่งสินค้าออนไลน์มาใช้อย่างจริงจัง เกิดขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เนื่องจากผู้พัฒนาได้มองเห็นถึงช่องว่างและความท้าทายที่เกิดขึ้นในระบบการซื้อ-ขายบริการขนส่งสินค้า หรือการจองพื้นที่ระวางสินค้าแบบดั้งเดิม ไม่ว่าจะเป็นความล่าช้าในการเช็คราคา ขั้นตอนการขอใบเสนอราคา การเปรียบเทียบบริการ หรือการชำระเงิน จนเกิดการคิดค้นและนำเสนอแพลตฟอร์ม Logistics Marketplace เพื่อเข้ามาเป็นทางเลือกใหม่ในการลดปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น

คุณสิทธิศักดิ์ กล่าวว่า “อุตสาหกรรมโลจิสติกส์เป็นตลาดที่มีการแข่งขันสูง เนื่องจากเป็นตลาดขนาดใหญ่ โดยเราจะพบว่านอกเหนือจากการแข่งขันด้วยการเพิ่มบริการมูลค่าเพิ่มอื่นๆ ผู้ให้บริการส่วนใหญ่มักจะแข่งขันกันด้วยราคาค่าบริการ เพราะโดยทั่วไปแล้วธุรกิจโลจิสติกส์มักจะมีรูปแบบการให้บริการที่คล้ายคลึงกัน ขณะที่ขั้นตอนการใช้บริการ ค่อนข้างจะซับซ้อนและใช้ระยะเวลาค่อนข้างนาน ทั้งการติดต่อสอบถามข้อมูลของแต่ละบริษัท การขอใบเสนอราคา การเปรียบเทียบราคาและข้อดี-ข้อเสียของผู้ให้บริการแต่ละบริษัท ตลอดจนขั้นตอนการชำระค่าบริการ อีกทั้งขั้นตอน การดำเนินงานในปัจจุบันส่วนใหญ่ยังคงใช้ระบบเอกสาร ซึ่งทำให้เกิดความสิ้นเปลืองทรัพยากรและส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ดังนั้น เราจึงมองว่าหากอุตสาหกรรมขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์สามารถมีแพลตฟอร์มตลาดการซื้อ-ขายบริการขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์แบบออนไลน์จะช่วยให้ผู้ใช้บริการมีความสะดวก รวดเร็ว และมีทางเลือกมากขึ้น ซึ่งแน่นอนว่าจะสามารถขจัดความซับซ้อน ลดระยะเวลาการดำเนินการ อีกทั้งยังช่วยให้ผู้ใช้บริการมีทางเลือกที่หลากหลายมากขึ้น ขณะที่ผู้ให้ บริการก็สามารถเข้าถึงลูกค้าใหม่ๆ ได้มากขึ้นด้วย”

กล่าวโดยสรุปก็คือ Logistics Marketplace เป็นสื่อกลางที่เชื่อมโยงระหว่างผู้ขนส่งสินค้า (shipper) และผู้ให้บริการขนส่งสินค้า (shipping) ในการติดต่อซื้อ-ขายบริการขนส่งสินค้าทุกประเภท โดยครอบคลุมกระบวนการจัดการขนส่งทุกขั้นตอน ตั้งแต่ต้นทางไปจนถึงปลายทาง

BEYOND Marketplace

สำหรับรูปแบบการทำงานของแพลตฟอร์ม Logistics Marketplace คือ ผู้ให้บริการขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์จะต้องทำการลงทะเบียนในเว็บไซต์จองระบบขนส่งออนไลน์ ระบุบริการที่สามารถให้บริการได้ลงบนเว็บไซต์ จากนั้นผู้ที่ต้องการใช้บริการซึ่งได้ลงทะเบียนกับเว็บไซต์เรียบร้อยแล้วก็สามารถเข้าไปเลือกบริการที่ต้องการผ่านเว็บไซต์ได้อย่างสะดวกสบาย โดยทำการเลือกชนิดของสินค้าที่ต้องการขนส่ง พร้อมระบุขนาดและปริมาณของสินค้า ประเภทของการขนส่ง สถานที่ในการรับ-ส่งสินค้า จากนั้นระบบจะทำการคัดเลือกผู้ให้บริการที่ตรงกับความต้องการ คุณภาพบริการ และราคาที่ดีที่สุดให้แก่ผู้ใช้บริการ หากผู้ใช้บริการยังคงไม่พอใจในราคาที่ได้รับการเสนอ ผู้ใช้บริการสามารถที่จะพูดคุยกับผู้ให้บริการขนส่งและติดต่อขอใบเสนอราคาใหม่ได้โดยตรง ผ่านช่องทางการสนทนาออนไลน์ในเว็บไซต์

นอกจากนี้ ผู้ใช้บริการขนส่งสินค้ายังสามารถติดตามสถานะการขนส่งสินค้าของตนได้แบบเรียลไทม์อีกด้วย คุณสิทธิศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า “ในช่วงแรก Logistics Marketplace มีวัตถุประสงค์ในการพัฒนาเพื่อแก้ไขปัญหาในการจองบริการขนส่งสินค้า แต่ในปัจจุบันผู้ให้บริการได้มองเห็นว่าเราสามารถก้าวไปข้างหน้าได้อีกหนึ่งระดับ นั่นคือการเพิ่มคุณค่าของ Logistics Marketplace ให้มากขึ้น ด้วยการช่วยให้ผู้ใช้บริการสามารถติดตามสถานะการขนส่งสินค้าของพวกเขาได้ตลอดกระบวนการขนส่ง โดยในกรณีของ Giztix เราได้เพิ่ม ‘ระบบจัดการขนส่ง’ (Transportation Management System) ที่ทำการเชื่อมโยงระหว่างผู้ให้บริการขนส่ง ผู้ใช้บริการ และพนักงานขับรถ ให้มารวมอยู่ในระบบเดียวกัน ส่งผลให้เกิดการลดงานซ้ำซ้อน เพิ่มความรวดเร็วในการปฏิบัติการ และผู้ใช้บริการขนส่งสามารถที่จะติดตามสถานะของสินค้าได้ในทุกขั้นตอน เพื่อเพิ่มความมั่นใจให้แก่ผู้ใช้บริการขนส่งว่า สินค้าจะได้รับการขนส่งไปถึงที่หมายได้อย่างราบรื่น และไม่เกิดความเสียหายต่อตัวสินค้าในระหว่างการขนส่ง ยิ่งไปกว่านั้น Giztix ยังได้ทำการเชื่อมโยงเข้ากับระบบของ GPS และระบบวางแผนบริหารธุรกิจ (ERP) ของแต่ละบริษัทผู้ให้บริการ เพื่อให้การจัดการขนส่งเป็นแบบ automation หรือ การปฏิบัติการโดยอัตโนมัติด้วยเทคโนโลยี ตั้งแต่ต้นทางไปจนถึงปลายทาง ซึ่งถือเป็นการให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการการขนส่งอย่างแท้จริง”

คุณสิทธิศักดิ์ วงศ์สมนึก

Challenges

อย่างไรก็ตาม การเติบโตของแพลตฟอร์มนี้ยังคงต้องเผชิญกับความท้าทายจากหลายปัจจัย โดยคุณสิทธิศักดิ์มีมุมมองว่าสิ่งที่เป็นความท้าทายของ Logistics Marketplace อย่างยิ่งคือ การที่ผู้ให้บริการโลจิสติกส์ยังคงมีแนวคิดและรูปแบบการดำเนินธุรกิจแบบเดิม และมองว่า e-Logistics เป็นเรื่องไกลตัว “ผู้ให้บริการโลจิสติกส์หลายบริษัทยังคงใช้วิธีการขายบริการระบบขนส่งสินค้าแบบดั้งเดิมอยู่ อีกทั้งยังคงทำงานด้วยระบบเอกสาร และมีความกังวลในการเปิดเผยข้อมูลต่างๆ ดังนั้น เมื่อเราเข้าไปพูดคุยกับบริษัทเหล่านี้ แน่นอนว่ามีหลายบริษัทที่ปฏิเสธ Logistics Marketplace ก่อนที่จะทำความรู้จักด้วยซ้ำ เพราะมองว่า Logistics Marketplace เป็นสิ่งที่ยุ่งยากและไกลตัว อย่างไรก็ตาม เราต้องยอมรับว่าปัจจุบัน เทคโนโลยีได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในการดำเนินธุรกิจ และยังถือเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่สามารถเพิ่มศักยภาพให้แก่ธุรกิจได้ เพระแท้จริงแล้ว Logistics Marketplace ไม่ใช่เทรนด์ ไม่ใช่แฟชั่น แต่ Logistics Marketplace คือแพลตฟอร์มที่ช่วยเพิ่มคุณค่าและประสิทธิภาพให้กับธุรกิจของพวกเขา หากใครเล็งเห็นประโยชน์ของเทคโนโลยีและสามารถปรับตัวให้ทันความเปลี่ยนแปลงได้ก่อน ก็จะเป็นผู้ที่เข้าถึงโอกาสได้ก่อน”

นอกจากนี้ อีกหนึ่งความท้าทายที่ผู้ให้บริการ Logistics Marketplace ต้องเผชิญคือ รูปแบบของธุรกิจโลจิสติกส์ ซึ่งเป็นธุรกิจที่ต้องพึ่งพาการให้บริการ หลายบริษัทโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเอเชีย มักจะให้ความสำคัญกับการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างบริษัทและลูกค้าโดยตรง ดังนั้น หลายบริษัทจึงยังคงมองว่าการใช้บุคลากรในการขายสินค้าและบริการโดยตรงน่าจะเป็นผลดีมากกว่าการใช้ระบบออนไลน์ ซึ่งอาจจะไม่สามารถตอบโจทย์ในด้านการให้บริการได้

Benefits Abound

สำหรับผู้ให้บริการโลจิสติกส์รายย่อย การสร้างความเชื่อมั่นแก่ลูกค้าหรือการดึงดูดลูกค้ารายใหม่ๆ ถือเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ให้บริการรายย่อยที่อาจมีเงินทุนไม่เพียงพอสำหรับการทำการตลาดให้เข้าถึงลูกค้าในวงกว้าง ดังนั้น การเข้ามาใช้แพลตฟอร์มการซื้อ-ขายบริการโลจิสติกส์และการขนส่งออนไลน์ จะช่วยให้บริษัทเหล่านี้เป็นที่รู้จักและเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงลูกค้าได้มากขึ้น โดยไม่จำเป็นต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมาก เพราะ Logistics Marketplace เป็นแพลตฟอร์มที่มีเครือข่ายผู้ใช้บริการ ซึ่งพร้อมที่จะมองหาบริการและราคาที่ดีที่สุดอยู่แล้ว

อย่างไรก็ตาม การหันมาเลือกใช้ช่องทาง Logistics Marketplace เพื่อเพิ่มโอกาสในการซื้อ-ขาย ก็ไม่ได้หมายความว่าบริษัทจะต้องลดความสำคัญด้านการให้บริการของบุคลากรไปอย่างสิ้นเชิง เพราะโลจิสติกส์คือธุรกิจบริการ ดังนั้น การดูแลเอาใส่ใจลูกค้าจึงเป็นสิ่งที่ต้องพัฒนาควบคู่ไปกับคุณภาพของบริการ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การรักษาลูกค้ารายใหญ่หรือลูกค้ารายสำคัญ (Key Accounts) แต่ผู้ดำเนินธุรกิจควรมองว่า Logistics Marketplace เป็นอีกหนึ่งช่องทางที่จะทำให้ผู้ให้บริการ สามารถเข้าถึงลูกค้าได้ง่ายและหลากหลายมากยิ่งขึ้น ขณะที่ผู้ส่งสินค้าก็จะมีทางเลือกในการใช้บริการขนส่งสินค้าได้มากขึ้น ซึ่งจะทำให้ทั้งสองฝ่ายต่างได้ประโยชน์ และอาจนำไปสู่การเป็นลูกค้าประจำในอนาคตได้อีกด้วย

เราจะเห็นได้ว่า การเข้ามาของเทคโนโลยีต่างๆ ในปัจจุบัน มีทั้งข้อดีและข้อเสีย จุดเด่นและจุดด้อยแตกต่างกันมากมาย ขึ้นอยู่กับว่าเราจะเลือกใช้เพื่อให้เกิดประโยชน์กับธุรกิจของเราได้อย่างไรบ้าง ในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์และการขนส่งสินค้าก็เช่นเดียวกัน หากเรารู้จักที่จะนำเอาเทคโนโลยีเข้ามาปรับปรุงและพัฒนาธุรกิจอย่างเหมาะสม ก้าวให้ทันความเปลี่ยนแปลง และกล้าเปิดรับโอกาสใหม่ๆ ก็อาจจะนำมาซึ่งประโยชน์ต่างๆ มากมายต่อทั้งผู้ให้บริการและผู้ใช้บริการ

Published on Logistics Manager (LM) magazine: 15th February 2018


อัพเดตข่าวสารและบทความที่น่าสนใจในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ก่อนใคร ผ่าน Line Official Account @Logistics Mananger เพียงเพิ่มเราเป็นเพื่อน @Logistics Manager หรือคลิกที่นี่

อัพเดตข่าวสารและบทความที่น่าสนใจในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ก่อนใคร ผ่าน Line Official Account @Logistics Mananger เพียงเพิ่มเราเป็นเพื่อน @Logistics Manager หรือคลิกที่นี่

บทความก่อนหน้านี้DHL พัฒนาโซลูชัน ยกระดับกระบวนการหยิบสินค้าในคลังสินค้า
บทความถัดไปที ไอ พี เอส จัดกิจกรรมบริจาคโลหิต เพื่อสนับสนุนสภากาชาดไทย ครั้งที่ 12