จากความจำเป็นด้านการผลิต การขนส่งสินค้า และการเดินทางอย่างต่อเนื่องในปัจจุบัน ส่งผลให้ก๊าซเรือนกระจกจำนวนมหาศาลได้รับการปล่อยขึ้นไปสะสมอยู่ในชั้นบรรยากาศ ซึ่งก่อให้เกิดภาวะโลกร้อน และภัยธรรมชาติทั่วโลก อีกทั้งยังเป็นปัจจัยส่งเสริมการกลายพันธุ์ของเชื้อโรคที่มีการการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็ว อย่างเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (COVID-19) ภายใต้ความผกผันนี้ ธรรมชาติได้ส่งสัญญานว่า มนุษย์ไม่สามารถควบคุมความเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติได้ ทว่า มนุษย์สามารถสร้างสรรค์นวตกรรมใหม่ ที่เป็นมิตรกต่อสิ่งแวดล้อม และช่วยลดการใช้พลังงาน เพื่อให้โลกกลับคืนสู่ความสมดุลได้

ในการนี้ บริษัท ฮัทชิสัน พอร์ท ประเทศไทย (HPT) เป็นบริษัทตัวอย่าง ที่มีความมุ่งมั่นในการพัฒนาและทดลองนำเทคโนโลยีล้ำสมัยอย่างรถหัวลากอัตโนมัติมาปรับใช้งานในท่าเทียบเรือ เพื่อรังสรรค์อนาคตที่มีประสิทธิภาพ และคำนึงถึงสภาพแวดล้อมมากยิ่งขึ้น

The Plan

ในปีที่ผ่านมา HPT ได้เดินหน้าตามแผนการพัฒนาท่าเรือพลังงานสะอาด ด้วยการยกระดับอุปกรณ์ปฏิบัติการหน้าท่า อาทิ ปั้นจั่นยกตู้สินค้าหน้าท่า และ ปั้นจั่นยกตู้สินค้าในลานแบบล้อยาง ซึ่งควบคุมการทำงานจากระยะไกล โดยใช้พลังงานไฟฟ้าเต็มรูปแบบ โครงการลดการใช้กระดาษด้วยระบบการสื่อสารข้อมูลเอกสารต่างๆ ในรูปแบบดิจิทัล รวมถึงการปรับใช้ประตูทางเข้าท่าเรือระบบอัตโนมัติ

ในปีนี้ HPT ขยับเข้าใกล้การเป็นท่าเทียบเรือแห่งอนาคตอีกขั้น ภายใต้โครงการทดสอบใช้งานหัวรถลากอัตโนมัติ ’Autonomous Q-Trucks’ “เรารับรถหัวลากอัตโนมัติจำนวนหกคัน จากผู้ผลิตสัญชาติจีนอย่าง Westwell มาสู่ท่าเทียบเรือชุด ดี โดยเราได้ตกลงกับ Westwell ว่าจะทำการทดสอบและผนวกรถหัวลากเข้ากับระบบปฏิบัติการหน้าท่าของเราภายในระยะเวลาประมาณหนึ่งปี” Mr. Stephen Ashworth กรรมการผู้จัดการของ ฮัทชิสัน พอร์ท ประจำประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าว

Mr. Stephen Ashworth กรรมการผู้จัดการของ ฮัทชิสัน พอร์ท ประจำประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

“เราจะดำเนินการทดสอบอย่างละเอียด ทั้งในแง่ประสิทธิภาพของรถหัวลาก และในแง่ของเทคโนโลยี ว่าจะสามารถปฏิบัติการร่วมกับแพลตฟอร์มการทำงานต่างๆ ของเรา อันประกอบไปด้วย ศูนย์ควบคุมกลาง ระบบวางแผนงาน และระบบบริหารจัดการจราจรภายในท่าเทียบเรือ ได้ดีเพียงใด หลังจากนั้น จึงจะพิจารณาว่าหัวรถลากอัตโนมัตินี้ จะสามารถทำงานร่วมกับกองรถบรรทุกลากตู้สินค้าแบบปกติของเราได้อย่างราบรื่นหรือไม่” Mr. Ashworth อธิบายต่อ

นอกจากนี้กรรมการผู้จัดการ ฮัทชิสัน พอร์ท ประจำประเทศไทย ยังเปิดเผยวิสัยทัศน์องค์กร ในการเปิดรับเทคโนโลยีล้ำสมัยนี้เข้ามาเพื่อพัฒนาประสิทธิภาพการปฏิบัติการว่า “เทคโนโลยีนี้เป็นนวัตกรรมที่ใหม่มาก รถหัวลากเหล่านี้ เป็นรถหัวลากอัจฉริยะที่สามารถวิ่งได้โดยไม่ต้องมีคนบังคับ โดยใช้ประโยชน์จากระบบปัญญาประดิษฐ์ เซ็นเซอร์ และระบบกำหนดตำแหน่งบนโลก (GPS) จึงมีความเป็นไปได้สูง ที่รถหัวลากเหล่านี้สามารถเชื่อมต่อเข้ากับระบบของเรา และสามารถปฏิบัติงานภายในท่าเทียบเรือร่วมกับอุปกรณ์อื่นๆ ได้อย่างสอดประสาน แนวคิดของเราคือ จะใช้รถหัวลากขนส่งตู้สินค้าระหว่างเรือและลานวางตู้สินค้า แทนที่รถหัวลากแบบปกติที่ใช้คนขับ”

นับตั้งแต่ท่าเทียบเรือ ชุด ดี ถือกำเนิดขึ้นในฐานะท่าเทียบเรือที่ล้ำสมัยที่สุดในท่าเรือแหลมฉบัง   ฮัทชิสัน พอร์ท ประเทศไทย ก็กลายเป็นแนวหน้าในการบุกเบิก ทดสอบและนำร่องนวัตกรรม รวมถึงเทคโนโลยีล่าสุด เพื่อเปิดทางสู่อนาคตให้แก่กลุ่มบริษัทในเครือ Hutchison Group เนื่องจากท่าเทียบเรือชุด ดี นั้น ได้รับการออกแบบให้เป็นท่าเทียบเรือพลังงานไฟฟ้ามาตั้งแต่ต้น จึงมีศักยภาพในการรองรับเทคโนโลยีใหม่ๆ และพร้อมสำหรับกระบวนการปรับปรุงและเสริมประสิทธิภาพในอนาคต   

“เราเป็นท่าเทียบเรือที่มีสถานะพิเศษในการทดสอบเทคโนโลยีล้ำสมัยต่างๆ ให้กับกลุ่มบริษัทของเรา” Mr. Ashworth กล่าวอย่างภาคภูมิ “ซึ่งหากว่าการทดสอบที่นี่ประสบผลสำเร็จ ก็มีโอกาสสูงที่ท่าเทียบเรือแห่งอื่นทั่วโลกจะเปิดรับเทคโนโลยีดังกล่าวไปปรับใช้งานในทำนองเดียวกัน อีกทั้ง องค์กรของเรายังเปี่ยมไปด้วยบุคลากรมืออาชีพที่มีแนวคิดก้าวหน้า เรามีพนักงานหนุ่มสาวมากมายที่พร้อมเปิดรับการเปลี่ยนแปลงและก้าวเดินสู่อนาคตด้วยความกระตือรือร้น และมีความใฝ่รู้ในการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่จะเข้ามาเปลี่ยนโฉมหน้าการทำงานให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้นอยู่เสมอ” 

The Smart Trucks  

รถหัวลากอัตโนมัติรุ่น QOMOLO ของบริษัท Westwell นั้น ปฏิบัติงานด้วยระบบปฏิบัติการอัจฉริยะที่เรียกว่า Deep Learning โดยวิเคราะห์และศึกษาข้อมูลภาพ เสียง และตัวอักษรภายใต้ระบบเครือข่ายที่คล้ายคลึงกับการทำงานของระบบประสาทของสมองมนุษย์ ซึ่งส่งผลให้รถหัวลากสามารถจัดการกับปัญหาภายใต้กฎเกณฑ์พื้นฐานได้อย่างดี

“รถหัวลากสามารถวิเคราะห์สิ่งแวดล้อมรอบตัวผ่านเซ็นเซอร์รอบทิศ และเก็บข้อมูลทางภูมิศาสตร์เพื่อนำไปสร้างแผนที่ดิจิทัลในการทำงาน โดยระบบดังกล่าวเหมาะสมต่อการขับเคลื่อนในพื้นที่ปิด เช่น ท่าเรือและท่าเทียบเรือ” Mr. Ashworth เผย  

“ด้วยเซ็นเซอร์รอบทิศ รถหัวลากยังสามารถวิเคราะห์สภาพการจราจรที่ซับซ้อน ภายใต้มุมมอง 360 องศา ผลลัพธ์คือ รถหัวลากมีประสิทธิภาพในการตอบสนองต่อสภาวะคับขันได้อย่างรวดเร็วและปลอดภัย พร้อมกันนั้น ระบบควบคุมสัญญานอิเล็กทรอนิกส์ ก็อำนวยให้รถหัวลากตอบสนองต่อคำสั่งควบคุมในเวลาอันรวดเร็ว การควบคุมรถจึงราบรื่น และง่ายดาย” Mr. Ashworth อธิบายต่อ   

ในแกนกลางของรถหัวลากอัตโนมัตินั้น ติดตั้งแพลตฟอร์มการประมวลผลที่มีชื่อว่า Q-Brain ซึ่งเรียนรู้สภาพแวดล้อมรอบตัวแบบเรียลไทม์ในระยะเวลาอันรวดเร็ว (ภายใน 50 มิลลิวินาที) ด้วยกล้องที่มีความคมชัด 720p เป็นอย่างต่ำ จำนวนแปดตัว เซ็นเซอร์ LiDAR และอุปกรณ์ส่งสัญญานข้อมูลเรดาร์สี่ตัว   

ข้อมูลที่ได้รับจากเซ็นเซอร์ทั้งหมดจะถูกส่งผ่านไปยังศูนย์ควบคุมทิศทาง และหลังจากผ่านกระบวนการวิเคราะห์โมดูลการเรียนรู้แบบ end-to-end อย่างละเอียดแล้ว หัวรถลากจะสามารถเรียนรู้และจดจำรูปแบบการวิ่งอัตโนมัติ ซึ่งสามารถปรับใช้กับรูปแบบการทำงานที่หลากหลาย เช่น การควบคุมให้อยู่ในช่องทางเดินรถ การแซง การหลบหลีกสิ่งกีดขวาง และการเลี้ยวบริเวณชุมทางทั้งบนผิวการจราจรที่มีเส้นแบ่งเลนและผิวการจราจรที่ไม่มีเส้นแบ่งเลนชัดเจน

ทั้งนี้ แพลตฟอร์มอินเทอร์เฟสอัจฉริยะสามารถเลือกรูปแบบแผนที่และสลับการใช้งานระหว่าง รูปแบบสามมิติและสองมิติได้อีกด้วย อีกทั้งยังอำนวยให้ผู้ใช้งานสามารถกำหนดตารางงาน สังเกตการณ์จากระยะไกล รวมถึงแบ่งปันข้อมูลระหว่างรถหัวลากได้ และสำหรับการปฏิบัติงานภายใต้สภาวะแวดล้อมหรือสภาพอากาศไม่ปกติ  ระบบควบคุมระยะไกลจะเตือนให้ผู้ใช้งานสับเปลี่ยนรูปแบบการบังคับแบบอัตโนมัติมาเป็นการควบคุมแบบคนบังคับได้ ซึ่งระบบจะตอบสนองต่อคำสั่งได้อย่างรวดเร็วภายในเวลาเพียง 500 มิลลิวินาที พร้อมคุณสมบัติที่สำคัญเพื่อเพิ่มความปลอดภัยสูงสุด เช่น การเบรกฉุกเฉินเมื่อพบสิ่งกีดขวาง เป็นต้น

Preparing for the Future

หัวใจสำคัญของโครงการทดสอบรถหัวลากอัตโนมัติของ HPT ก็คือ การพิสูจน์แนวคิด รวมถึงประเมินศักยภาพทางด้านเทคโนโลยีของท่าเทียบเรือชุด ดี พร้อมกับมองหากรรมวิธีในการประสานการทำงานของรถหัวลากอัตโนมัติให้ทำงานขนส่งตู้สินค้าร่วมกับกองรถบรรทุกแบบเดิม เพื่อเพิ่มพูนประสิทธิภาพ ความปลอดภัย และความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดย ณ เวลานี้ โอกาสแห่งความเป็นไปได้สำหรับทั้งรถหัวลากและท่าเทียบเรือฯ นั้น เปิดกว้างอย่างแทบไม่มีขอบเขตจำกัด   

หากว่าการทดสอบครั้งนี้ประสบผลสำเร็จ กองรถหัวลากอัตโนมัติชุดใหม่ก็จะเริ่มเดินเครื่องและมุ่งหน้ามายังท่าเทียบเรือชุด ดี เพื่อเริ่มปฏิบัติการบรรทุกสินค้าหน้าท่าอัตโนมัติอย่างเต็มรูปแบบ “ต้องใช้เวลาพอสมควรจึงจะได้ผลลัพธ์ของการทดสอบ โดยเมื่อการทดสอบเริ่มเดินหน้าแล้ว เราจะพิจารณาว่าเทคโนโลยีนี้จะนำพาเราไปยังทิศทางใด ด้วยความช่วยเหลือจากผู้ผลิตและฝ่ายไอทีของเรา เรามีอิสระในการปรับใช้หัวรถลากอัตโนมัติได้อย่างเต็มที่” Mr. Ashworth กล่าวปิดท้าย    


อัพเดตข่าวสารและบทความที่น่าสนใจในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ก่อนใคร ผ่าน Line Official Account @Logistics Mananger เพียงเพิ่มเราเป็นเพื่อน @Logistics Manager หรือคลิกที่นี่

บทความก่อนหน้านี้Durbell ชูศักยภาพการจัดจำหน่าย ช่วยลูกค้าฝ่าวิกฤต
บทความถัดไปMaersk เปิดให้บริการขนส่งทางรางเชื่อมยุโรปสู่เอเชีย