เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายนที่ผ่านมา คุณอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้เกียรติเป็นประธานในพิธีลงนามร่วมทุนโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 ในส่วนท่าเทียบเรือ F ระหว่าง การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) และ กลุ่มกิจการค้า GPC โดยมี คุณศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม คุณอธิรัฐ รัตนเศรษฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม คุณคณิศ แสงสุวรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ผู้บริหารกระทรวงคมนาคม กรรมการ กทท. ผู้บริหาร กทท. และผู้บริหารระดับสูงจากกลุ่มบริษัทร่วมค้า GPC ร่วมเป็นสักขีพยาน ณ ห้องบอลรูม ชั้น 4 โรงแรมคอนราด กรุงเทพฯ

สำหรับโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 มูลค่าโครงการรวมประมาณ 1.1 แสนล้านบาท แบ่งเป็น การลงทุนโดย กทท. ประมาณ 50,000 ล้านบาท และเอกชนลงทุนประมาณ 60,000 ล้านบาท ในส่วนของเอกชนแบ่งเป็นเงินลงทุนในท่าเทียบเรือ F ประมาณ 30,000 ล้านบาท ท่าเทียบเรือ E ประมาณ 25,000 ล้านบาท และท่าเทียบเรือ E0 ประมาณ 5,000 ล้านบาท โดยจะพัฒนาและดำเนินการในส่วนของท่าเทียบเรือ F เป็นลำดับแรก ระยะเวลาสัมปทาน 35 ปี วงเงินเอกชนลงทุนประมาณ 30,871 ล้านบาท มุ่งผลักดันท่าเรือแหลมฉบังสู่ประตูการค้า การลงทุน และเสริมยุทธศาสตร์ให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางภูมิภาคได้อย่างเต็มศักยภาพ รวมถึงเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันให้ประเทศ โดยคาดว่าจะเริ่มเปิดดำเนินการภายในปี 2025

ทั้งนี้ กทท. จะเป็นผู้ดำเนินงานก่อสร้างงานทางทะเล เพื่อรองรับการก่อสร้างท่าเทียบเรือและโครงสร้างพื้นฐาน ท่าเรือชายฝั่ง งานระบบรางและย่านรถไฟ ในขณะที่ GPC จะเป็นผู้ออกแบบ ก่อสร้าง ให้บริการ และซ่อมบำรุงรักษาท่าเทียบเรือ F1 และ F2 เพื่อรองรับการขนถ่ายตู้สินค้าด้วยระบบจัดการตู้สินค้าแบบอัตโนมัติ ซึ่งมีความสามารถในการรองรับการขนถ่ายตู้สินค้าได้อย่างน้อย 4,000,000 ทีอียูต่อปี โดย GPC จะได้รับรายได้จากการประกอบกิจการท่าเรือ เช่น ค่าภาระการใช้ท่าของเรือ ค่าภาระยกขนตู้สินค้า ค่าภาระการใช้ท่าของตู้สินค้า และรายได้อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องตามขอบเขตและเงื่อนไขที่กำหนด คาดว่าท่าเทียบเรือ F1 จะเริ่มก่อสร้างในปี 2023 โดยมีกำหนดเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ในปี 2025

คุณอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า โครงการพัฒนา ท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 ในส่วนของท่าเทียบเรือ F เป็นโครงการโครงสร้างพื้นฐานหลักสำคัญของ EEC ที่จะช่วยเสริมความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจ เพื่อรองรับการขนส่งสินค้าทางทะเลระหว่างประเทศที่เพิ่มขึ้นในอนาคต และยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชน ตามความมุ่งมั่นของรัฐบาลในการบริหารประเทศ ซึ่งเป็นการส่งเสริมสนับสนุนกิจกรรมเพิ่มมูลค่า และการบริหารจัดการขนส่งหลายรูปแบบ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนค่าขนส่ง ซึ่งจะช่วยพัฒนาและขยายพื้นที่หลังท่าของท่าเรือแหลมฉบังได้อย่างเต็มศักยภาพ

ด้าน เรือโท ยุทธนา โมกขาว รองผู้อำนวยการ กทท. สายบริหารการเงินและกลยุทธ์องค์กร รักษาการแทนผู้อำนวยการ กทท. กล่าวว่า โครงการนี้มีอายุสัญญาสัมปทาน 35 ปี ซึ่ง กทท. จะได้รับผลประโยชน์ตอบแทนทางการเงินขั้นต่ำเป็นค่าสัมปทานคงที่เท่ากับมูลค่าปัจจุบันสุทธิ (NPV) ที่ 29,050 ล้านบาท และค่าสัมปทานผันแปรที่ 100 บาทต่อทีอียู โดยจะเร่งรัดในส่วนของท่าเทียบเรือ F ซึ่ง โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 จะสามารถรองรับเรือที่มีขนาดบรรทุกสินค้าใหญ่ที่สุดในโลกได้ มีการบริหารจัดการสินค้าด้วยเครื่องมือที่ทันสมัยด้วยระบบอัตโนมัติ พร้อมทั้งจะมีโครงข่ายเชื่อมโยงหลังท่าเรือ ทั้งทางบก ทางราง และทางเรือชายฝั่ง อย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนผสมผสานให้เป็นท่าเรือสีเขียว คำนึงถึงคุณภาพสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ รวมทั้งสุขภาพของประชาชนในบริเวณใกล้เคียง อันจะนำไปสู่การเป็นท่าเรือชั้นนำระดับมาตรฐานโลกต่อไป


อัพเดตข่าวสารและบทความที่น่าสนใจในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ก่อนใคร ผ่าน Line Official Account @Logistics Mananger เพียงเพิ่มเราเป็นเพื่อน @Logistics Manager หรือคลิกที่นี่

บทความก่อนหน้านี้DSV ขยายความร่วมมือกับ New Balance ยกระดับคลังสินค้าอัตโนมัติ รองรับสินค้าเพิ่มขึ้นสามเท่า
บทความถัดไปPIL จับมือ Singtel ติดตั้งระบบสื่อสารผ่านดาวเทียมบนเรือ พร้อมเดินหน้าสู่ระบบดิจิทัล
Pichanon Paoumnuaywit
tech and history geek, who enjoys hunting and photographing dark skies and milky way