กว่าสองทศวรรษที่สายการเดินเรือ Mediterranean Shipping Company (MSC) เข้ามาปฏิบัติการในประเทศไทย พร้อมเติบโตและขยายเครือข่ายธุรกิจอย่างมั่นคง ด้วยความได้เปรียบจากการมีอาคารสำนักงานของตนเองที่ตั้งอยู่ในกรุงเทพมหานคร พวกเขาวางรากฐานธุรกิจภายในประเทศเอาไว้สำหรับอนาคต

ซึ่งปัจจุบัน ก็ถึงเวลาที่บริษัทฯ จะเสริมสร้างพันธกิจก้าวสำคัญในตลาดไทย ด้วยความภาคภูมิใจอย่างยิ่งที่ได้ต้อนรับเรือขนส่งสินค้าขนาดใหญ่ที่สุดที่เคยเข้ามาเทียบในน่านน้ำไทย

Mr. Peter Blohm กรรมการผู้จัดการ บริษัท MSC Mediterranean Shipping ประเทศไทย

ภายใต้การนำของ Mr. Peter Blohm กรรมการผู้จัดการ บริษัท MSC Mediterranean Shipping ประเทศไทย ผู้มีประสบการณ์การปฏิบัติงานร่วมกับ MSC ด้วยความมุ่งมั่นและจริงจังมายาวนานกว่าสองทศวรรษ ในวันนี้เขามีความยินดีที่ได้นำเรือขนส่งสินค้าขนาด Neopanamax เข้าเทียบที่ท่าเรือแหลมฉบัง ในขณะที่หลายธุรกิจต่างหยุดชะงัก ด้วยมองว่าเวลานี้เป็นช่วงที่ไม่มีความแน่นอนจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา Mr. Blohm ยังคงมุ่งไปข้างหน้าด้วยวิสัยทัศน์ที่แน่วแน่ เพื่อนำทางบริษัทสู่เส้นแห่งการเติบโตอย่างมั่นคงและมั่งคั่ง

นิตยสาร LM ฉบับนี้ ได้รับเกียรติจาก Mr. Peter Blohm มาแบ่งปันทัศนะเกี่ยวกับพันธกิจของ MSC รวมทั้งกลยุทธ์การขยายธุรกิจในประเทศไทย แต่ก่อนที่เราจะเปิดเผยแผนธุรกิจของ Mr. Blohm ในการบรรลุเป้าหมายที่ท้าทายนั้น เราควรมาเริ่มต้นทำความรู้จักกับความเป็นมาของ MSC เสียก่อน เพื่อให้สามารถเข้าใจวิถีการดำเนินงาน รวมทั้งปรัชญาในการดำเนินธุรกิจของพวกเขาได้อย่างถ่องแท้

A Personal Touch

MSC เป็นกิจการเอกชนที่ดำเนินธุรกิจแบบครอบครัว จากจุดกำเนิด ณ นคร Geneva ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เมื่อปี 1970 พวกเขาเริ่มให้บริการด้วยเรือขนส่งสินค้าเพียงลำเดียว ด้วยบริการเพียงหนึ่งบริการ และเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยการขยายกองเรือ และเปิดตัวบริการใหม่ๆ สู่ตลาด “แนวทางการมอบบริการด้วยความใส่ใจในทุกรายละเอียดความต้องการของลูกค้า ทำให้เราแตกต่างจากสายการเดินเรืออื่น และในวันนี้ MSC ก็ได้เติบโตขึ้นเป็นสายการเดินเรือที่มีพื้นที่ระวางสินค้ามากที่สุดเป็นอันสองของโลก” Mr. Blohm กล่าว

ปัจจุบัน กิจการแบบครอบครัวนี้มีเรือขนส่งสินค้ากว่า 520 ลำ ปฏิบัติการในเส้นทางการค้ากว่า 200 เส้นทางทั่วโลก มีสำนักงานถึง 493 แห่ง ใน 155 ประเทศ และมีบุคลากรมากกว่า 70,000 คน และสิ่งที่น่าทึ่งที่สุดคือ ความสำเร็จเหล่านี้ไม่ได้มาจากการควบรวมกิจการ ซึ่งแตกต่างอย่างสิ้นเชิงจากธรรมเนียมปฏิบัติที่นิยมในอุตสาหกรรมการขนส่งสินค้าทางทะเล

อนึ่ง การยืนหยัดในฐานะบริษัทเอกชนและการเป็นธุรกิจครอบครัว ทำให้การดำเนินธุรกิจของ MSC ไม่ต้องผูกติดกับมติของผู้ถือหุ้น พวกเขาสามารถวางแผนลงทุนได้ในระยะยาว ยิ่งไปกว่านั้น ยังสามารถนำผลประกอบการกลับมาลงทุนขยายกิจการของบริษัทได้อย่างเต็มที่

“ที่ MSC เรามีคติว่า ‘สินค้าอยู่ที่ใด เราก็จะไปที่นั่น’ ภายใต้หลักการอันนี้ เราจึงเตรียมการเพื่อขยายธุรกิจในประเทศไทย”

 Mr. Blohm กล่าว ก่อนที่จะเริ่มเผยถึงบริการใหม่ที่จะเชื่อมต่อน่านน้ำอ่าวไทยสู่ตลาดเศรษฐกิจโลกโดยตรง

​Upgraded Services

เมื่อเร็วๆ นี้ สายการเดินเรือ MSC ได้เปิดบริการขนส่งสินค้าเส้นทางตรงใหม่แบบเพนดูลัม ซึ่งเชื่อมยุโรปเหนือ เอเชีย และสหรัฐอเมริกาฝั่งตะวันตกเข้าด้วยกัน โดยมีท่าเรือแหลมฉบังเป็นหนึ่งในจุดเชื่อมที่สำคัญ โดยเรือที่ปฏิบัติการในเส้นทางการบริการนี้คือ ‘MSC Danit’ ขนาดระวาง 14,000 ทีอียู “บริการใหม่ของเราจะช่วยเพิ่มพื้นที่ระวางสินค้าขาเข้าสู่ประเทศไทยได้มาก” Mr. Blohm กล่าวถึงบริการปรับปรุงใหม่ของ MSC

โดยหลังจากที่เดินทางมาถึงท่าเรือแหลมฉบัง เรือก็จะเดินทางต่อไปยังชายฝั่งตะวันตกของอเมริกา พร้อมแวะเทียบท่าที่เมือง Yantian และ Shanghai ในประเทศจีน ก่อนที่จะไปยังท่าเรือ Long Beach ในแคลิฟอร์เนีย แล้ววนย้อนกลับมาตามเส้นทางเดิม บริการนี้จึงมีความสำคัญทั้งในแง่ของการขนส่งสินค้าจากฝั่งตะวันตกเข้าสู่เอเชีย และเป็นส่วนสำคัญในการกระจายสินค้าภายในเครือข่าย Intra-Asia อีกด้วย

MSC Danit เป็นเรือขนส่งตู้สินค้าขนาด Neopanamax ซึ่งขึ้นชื่อเรื่องความยืดหยุ่นในการปฏิบัติการไปยังท่าเรือต่างๆ ได้ทั่วโลก และยังสามารถใช้ประโยชน์สูงสุดจากการเดินทางลัดผ่านคลองปานามา เรือลำนี้ได้รับการขนานนามตามชื่อลูกสาวของ Mr. Edni Simkin รองประธานกิจการอู่ต่อเรือ Daewoo Shipbuilding & Marine Engineering และประธานบริษัท MSC ประเทศอิสราเอล เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2009 อนึ่ง เรือของ MSC ส่วนใหญ่จะตั้งชื่อตามชื่อลูกสาวของบุคลากรบริษัท โดยเรือ MSC Danit มีความยาว 365.50 เมตร กินน้ำลึก 16 เมตร บรรทุกน้ำหนักสินค้าได้ 165,517 เมตริกตัน และมีระวางน้ำหนักเรือ 153,092 ตันกรอส

การที่ MSC มุ่งมั่นที่จะเชื่อมบริการใหม่สู่ประเทศไทย ถือเป็นข้อพิสูจน์ถึงการเติบโตของธุรกิจในภูมิภาคจากปีก่อนหน้า “เวลานี้คือโอกาสที่ดีที่สุดในการเปิดประตูสู่ตลาดใหม่อย่างเต็มตัว และพนักงานทุกคนของเราต่างก็กำลังฮึกเหิมกับการเติบโตที่จะเกิดขึ้นต่อไป” Mr. Blohm กล่าวถึงการเติบโตของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่กำลังดึงดูดความสนใจของสายการเดินเรือต่างๆ “MSC ประเทศไทย มอบผลประโยชน์ให้แก่ทั้งประเทศไทยและลูกค้ามาตั้งแต่ที่เปิดบริการใน 1997 และโดยการเพิ่มบริการใหม่นี้ เรามุ่งมั่นที่จะฟูมฟักความสัมพันธ์ที่ได้วางรากฐานเอาไว้ และร่วมส่งมอบการเติบโตทางเศรษฐกิจที่เหนือกว่าให้แก่ชาวไทยทุกคน”

Manning the Post

การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ได้สร้างความท้าทายอย่างมากต่อการค้าโลกและอุตสาหกรรมการขนส่งตู้สินค้า “MSC ประเทศไทย กำลังปฏิบัติการอย่างแข็งขัน เพื่อที่จะรักษาเสถียรภาพของธุรกิจในอุตสาหกรรมการขนส่งสินค้า และลดผลกระทบให้แก่ซัพพลายเชนของลูกค้า ควบคู่ไปกับการส่งเสริมกิจกรรมด้านสาธารณสุขที่สำคัญยิ่งในการลดการแพร่ระบาดของ COVID-19” Mr. Blohm กล่าว

ไม่มีใครเคยประสบกับสถานการณ์เช่นการแพร่ระบาดของ COVID-19 มาก่อน และถึงแม้ว่าหลายประเทศจะเคยผ่านเหตุการณ์เช่นความเสียหายจากสงคราม รวมทั้งภาวะข้าวยากมากแพงมาแล้ว แต่สถานการณ์เช่นนี้ก็เป็นสิ่งที่ไม่มีใครคาดคิดว่าจะเกิดขึ้นในยุคสมัยใหม่ และไม่มีใครสามารถคาดเดาได้ว่าการล็อคดาวน์จะดำเนินต่อไปนานแค่ไหนหรือจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจมากเพียงใด

ช่วงเวลาเช่นนี้ ทำให้เราตระหนักว่าอุตสาหกรรมต่างๆ มีความสำคัญเพียงใด แน่นอนว่า เหล่าบุคลากรทางการแพทย์ที่กำลังปฏิบัติหน้าที่อย่างไม่ท้อถอยในการดูแลผู้ติดเชื้อ คือกลุ่มบุคคลอันดับหนึ่งที่ใครๆ ต่างก็ให้การคารวะ แต่ส่วนที่สำคัญอีกส่วนหนึ่งอย่างอุตสาหกรรมโลจิสติกส์มักถูกมองข้ามอยู่เสมอ แม้ว่าจะมีส่วนในชีวิตประจำวันของทุกคนอย่างขาดไม่ได้และสำคัญยิ่งขึ้นไปอีกในเวลานี้ บุคลากรด้านโลจิสติกส์ทุกคนคือผู้กล้าที่ยังคงปฏิบัติหน้าที่อย่างมุ่งมั่น เพื่อนำส่งเวชภัณฑ์และอุปกรณ์การแพทย์ให้กับนายแพทย์ และช่วยจัดกระจายสินค้าให้ยังคงมีอยู่บนชั้นวางของในร้านค้าหรือตามท้องตลาดซึ่งล้วนเป็นเครื่องอุปโภคบริโภคจำเป็นที่จัดส่งมาถึงมือเราได้โดยไม่ติดขัด

เพื่อตอบรับต่อผลกระทบของ COVID-19 นี้ MSC ประเทศไทยได้ปฏิบัติงานตามมาตรการความปลอดภัยอย่างเคร่งครัด เพื่อให้มั่นใจว่าพวกเขายังคงสามารถมอบบริการให้ลูกค้าได้อย่างต่อเนื่อง โดยหนึ่งในมาตรการเหล่านั้นคือ การอนุญาตให้บุคลากรของบริษัทสามารถทำงานจากที่บ้านได้ และให้มีการสับเปลี่ยนกะงานได้ตามความเหมาะสม ในด้านเทคโนโลยี บริษัทยังมีความพร้อมสำหรับเหตุการณ์ที่อาจส่งผลกระทบอย่างรอบด้าน รวมทั้งพัฒนาเครือข่าย VPN อันแข็งแกร่งที่สามารถคุ้มครองการเข้าถึงข้อมูลของพนักงานที่ต้องทำงานนอกสถานที่ โดยที่ลูกค้าไม่จำเป็นต้องกังวลว่าข้อมูลสำคัญจะเกิดการรั่วไหล

สุดท้ายนี้ Mr. Blohm ยังกล่าวถึงบุคลากรทุกคนว่า ความพยายามเขาพวกนั้นมีความหมายอย่างมาก และความรับผิดชอบในหน้าที่ของพวกเขา ก็ได้ช่วยให้บริษัทสามารถมอบบริการได้อย่างราบรื่นตลอดช่วงการระบาด โดย MSC ประเทศไทยมีมาตรการต่างๆ จำนวนมาก ในการคุ้มครองบุคลากรและการดำเนินธุรกิจ ควบคู่ไปกับการสร้างความเชื่อมั่นว่าบริษัทฯ จะสามารถส่งมอบบริการขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์ให้กับตลาดโลกได้อย่างไม่มีสะดุด

อัพเดตข่าวสารและบทความที่น่าสนใจในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ก่อนใคร ผ่าน Line Official Account @Logistics Mananger เพียงเพิ่มเราเป็นเพื่อน @Logistics Manager หรือคลิกที่นี่

บทความก่อนหน้านี้ที ไอ พี เอส ร่วมบริจาคเงินสมทบทุนซื้ออุปกรณ์การแพทย์ โรงพยาบาลสมเด็จพระบรมราชเทวี ณ ศรีราชา
บทความถัดไปท่าเรือเชียงแสนลดค่าธรรมเนียม 30% ดึงดูดลูกค้าทั้งใหม่และเก่า
Satida Tinarak
Satida Tinarak is a fresh writer who loves to read political novels or even constitutional law. Politics news is a subject that she never gets tired of.