เมื่อไม่นานมานี้ PSA ผู้ให้บริการท่าเทียบเรือชั้นนำระดับโลก ที่เปี่ยมด้วยประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในการบริหารจัดการท่าเรือ พร้อมเทคโนโลยีที่ทันสมัย  ได้ประกาศความร่วมมือกับ SCG Logistics ผู้ให้บริการโซลูชันโลจิสติกส์ชั้นแนวหน้าของภูมิภาค ในการก่อตั้ง Thai Connectivity Terminal (TCT) เพื่อขยายเครือข่ายและพัฒนาคุณภาพการบริการให้ดียิ่งขึ้น

นิตยสาร LM ฉบับนี้ ได้รับเกียรติจาก Mr. Goh Han Yong ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และ คุณชรินทร นพรัตน์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท Thai Connectivity Terminal (TCT) และผู้อำนวยการฝ่าย International Logistics Business บริษัท เอสซีจี โลจิสติกส์ แมเนจเม้นท์ จำกัด มาเปิดเผยวิสัยทัศน์เบื้องหลังการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ และบริการต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น จากการร่วมธุรกิจของสองยักษ์ใหญ่ต่างวงการในครั้งนี้

Creating New Connections

โครงสร้างพื้นฐานอันเป็นที่ตั้งของท่าเทียบเรือ Thai Connectivity Terminal หรือ TCT ในปัจจุบันนั้น เป็นส่วนหนึ่งของเครือธุรกิจ SCG Logistics Management (SCGL) มายาวนานกว่า 30 ปี โดยในปี 2020 นี้ ภายหลังจากที่ SCG Logistics ได้กรรมสิทธิ์ทั้งหมดคืนมา ก็ได้บรรลุข้อตกลงกับ PSA และก่อตั้งกิจการใหม่ขึ้น โดยคุณชรินทร กล่าวถึงความร่วมมือกันในครั้งนี้ว่า “เราต้องการสร้างความเปลี่ยนแปลง เพื่อประกาศให้รู้ว่าเราได้จับมือกับพันธมิตรรายใหม่แล้ว ซึ่งทิศทางและนโยบายของเราก็จะเปลี่ยนไป ก็เลยตกลงกันว่าจะเริ่มต้นด้วยการเปลี่ยนชื่อเป็น Thai connectivity terminal”

รูปภาพทีมงานบริษัท TCT และ SCG Logistics จากทางซ้าย 1).คุณสมบุญ เตชะโชคอำนวยพร ผู้จัดการฝ่ายการตลาด 2).คุณอรพรรณ ศรีสถล ประธานเจ้าหน้าที่สายการเงิน 3).กัปตัน รัฐศาสตร์ กันวี ผู้จัดการฝ่ายปฏิบัติการ 4). Mr. Goh Han Yong ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร 5).คุณชรินทร นพรัตน์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร 6).คุณพรชัย ดวงแก้ววุฒิไกร ประธานเจ้าหน้าที่การพาณิชย์ 7).คุณเบญจา จันทร์จีน ผู้บริหารฝ่ายพาณิชย์ บริษัท Thai Connectivity Terminal (TCT) และ 8).คุณกนกวรรณ ขวัญดี ผู้บริหารการพัฒนาธุรกิจ ฝ่าย International Logistics Business บริษัท เอสซีจี โลจิสติกส์ แมเนจเม้นท์ จำกัด

คำว่า Connectivity มาจากวิสัยทัศน์ร่วมของ SCG Logistics และ PSA ที่มองว่า ท่าเรือเป็นส่วนหนึ่งของซัพพลายเชน และเป็นจิ๊กซอว์ชิ้นสำคัญที่จะเข้ามาเติมเต็มบริการของ SCG Logistics ให้สามารถตอบสนองบริการลูกค้าได้ดียิ่งขึ้น ในการเชื่อมต่อระหว่างการขนส่งทางบกและทางทะเล ประกอบกับนโยบายในฝั่งของ PSA ที่ต้องการขยายเครือข่ายให้ครอบคลุมทั่วโลก โดย PSA มองว่าประเทศไทยเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญจุดหนึ่งในการเป็นประตูสำคัญสู่อาเซียน ตะวันออกไกล และจีน ซึ่งสุดท้ายจะเชื่อมโยงเข้ากับโครงข่าย Belt and Road Initiative และ PSA เล็งเห็นศักยภาพของ TCT ในการเป็นจุดยุทธศาสตร์ด้านการขนส่งและกระจายสินค้า ดังนั้นคำว่า Connectivity จึงมีความหมายที่ตอบโจทย์การเชื่อมโยงบริการทุกอย่างของทั้ง SCG Logistics และโครงข่ายทั้งในประเทศไทยและในแต่ละประเทศทั่วโลกของ PSA นี่คือปรัชญาเบื้องหลังคำว่า ‘Connectivity’

โลโก้ของ TCT จะมีสัญลักษณ์ที่เป็นเครือข่ายโยงใยเข้าหากันเป็นรูปทรงโมเลกุล สื่อถึงการเชื่อมต่ออย่างแข็งแกร่ง และที่ด้านล่างกำกับด้วยคำว่า ‘A SCG & PSA COMPANY’ เพื่อเน้นย้ำถึงความชัดเจนและความเชี่ยวชาญขององค์กรผู้บริหารจัดการกิจการท่าเทียบเรือแห่งใหม่นี้

Thai Connectivity Terminal พร้อมให้บริการแก่สายการเดินเรือทุกสาย รวมถึงผู้ให้บริการตัวแทนรับจัดการขนส่ง และผู้ส่งออกและผู้นำเข้าสินค้าทุกราย ด้วยประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในการบริหารงานจากผู้ให้บริการท่าเทียบเรือระดับโลกอย่าง PSA และการส่งมอบโซลูชันด้านโลจิสติกส์จาก SCG Logistics อย่างครบวงจร

Beyond terminal

ท่าเทียบเรือในเครือกลุ่มบริษัท TCT มีอยู่ด้วยกันสองแห่ง คือ TCT Bangkok และ TCT Map Ta Phut โดย ท่าเทียบเรือ TCT ที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มบริษัทฯ ตั้งแต่ปี 1992  ซึ่งเป็นท่าสำหรับรองรับสินค้าทั่วไป (General cargo) มีขนาดพื้นที่กว่า 50 ไร่ และเป็นท่าเดียวที่มีพื้นที่หลังท่าสำหรับวางกองเก็บสินค้าได้ ซึ่งคนส่วนใหญ่อาจไม่ทราบว่า TCT เป็นเจ้าของท่าเรือทั้งสองแห่ง

ในส่วนของท่าเรือ TCT Bangkok ตั้งอยู่ห่างจากศูนย์กลางของกรุงเทพมหานครเพียง 20 กิโลเมตร ห่างจากท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ 40 กิโลเมตร ติดกับนิคมอุตสาหกรรม และมีถนนเชื่อมต่อไปยังภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศไทย มีพื้นที่รวมทั้งหมด 110,000 ตารางเมตร ภายในแบ่งเป็นท่าเทียบเรือหมายเลข 10 และหมายเลข 12

โดยท่าเทียบเรือหมายเลข 10 มีความยาวหน้าท่า 150 เมตร ระดับความลึกหน้าท่า 8.5 เมตร สามารถรองรับเรือขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ (Feeder) ขนาด Bangkok Max ที่มีความยาว 172 เมตรได้ ซึ่งปัจจุบัน TCT ให้บริการสายการเดินเรืออยู่ทั้งหมด 3 ราย ในเส้นทางการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศไทยกับท่าเรือต่างๆ ของมาเลเซีย ทั้งฝั่งตะวันตกและตะวันออก และเส้นทางการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศไทยกับฟิลิปปินส์

สำหรับท่าเทียบเรือหมายเลข 12 จะให้บริการสำหรับเรือขนสินค้าชายฝั่ง (Barge) เพื่อเชื่อมต่อระหว่าง TCT และท่าเรือแหลมฉบัง โดยปัจจุบัน TCT ให้บริการลูกค้าสายการเดินเรือมากกว่า 12 สายเรือ ทั้งที่เป็นผู้ให้บริการระดับสากลและระดับภูมิภาค นอกจากนี้ ภายในบริเวณท่าเรือ TCT ยังมีคลังสินค้าจำนวนสามอาคาร ขนาดพื้นที่รวม 10,000 ตารางเมตร พร้อมพื้นที่ลานพักตู้สินค้า (Container depot) และบริการซ่อมแซมและทำความสะอาดตู้สินค้าภายในบริเวณ โดยไม่ต้องลากตู้สินค้าออกไปพักที่ลานอื่นนอกท่าเรือ ช่วยประหยัดทั้งค่าใช้จ่ายและค่าเสียเวลาให้กับลูกค้าได้อย่างมาก ซึ่งถือเป็นจุดเด่นอีกประการที่ทำให้ TCT แตกต่างจากท่าเรือแม่น้ำอื่นๆ

นอกจากนี้ TCT ยังมีบริการเสริมต่างๆ ที่สามารถให้บริการได้อย่างครบวงจรภายในบริเวณ โดยประกอบด้วยบริการบรรจุสินค้าเข้า/ออกตู้สินค้า (Stuffing/Unstuffing) บริการขนส่งสินค้า บริการด้านการผ่านพิธีการศุลกากร และบริการเพิ่มมูลค่าอื่นๆ กล่าวคือ เพียงลูกค้านำเข้าสินค้ามาที่ TCT ก็สามารถเลือกใช้บริการเสริมที่หลากหลายและครอบคลุมได้ทันที ยกตัวอย่างเช่น กรณีที่ลูกค้าเป็นผู้นำเข้าสินค้า เมื่อเรือขนส่งสินค้าเทียบท่าแล้ว  สามารถใช้บริการรถขนส่งสินค้าจัดส่งไปยังศูนย์กระจายสินค้าแต่ละจุดของลูกค้า หรือถ้าลูกค้าต้องการเก็บสต็อคสินค้าไว้ TCT ก็มีพื้นที่คลังสินค้าสำหรับจัดเก็บ พร้อมบริการแบ่งหรือเปลี่ยนหีบห่อบรรจุ (Re-packing) เพื่อส่งออกตามปริมาณที่ลูกค้าต้องการ เป็นต้น

ปัจจุบันTCT มีปริมาณสินค้าผ่านท่าเฉลี่ย 250,000 ทีอียูต่อปี และสามารถรองรับปริมาณสินค้าผ่านท่าได้สูงสุดถึง 300,000 ทีอียูต่อปี ทั้งนี้ TCT ยังทุ่มงบประมาณกว่า 70 ล้านบาท สำหรับการพัฒนาปรับปรุงท่าเรือทั้งในส่วนของโครงสร้างพื้นฐานและเทคโนโลยีต่างๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการและความสามารถในการรองรับการเติบโตของ TCT ไม่ว่าจะเป็นการขยายพื้นที่หน้าท่า การปรับปรุงประสิทธิภาพลานตู้สินค้าและประตูทางเข้า (Gate) การปรับใช้ระบบดิจิทัลที่ทันสมัย โดยคาดว่าโครงการเหล่านี้จะแล้วเสร็จภายในระยะเวลา 2 ปี

Seamless Solutions

นอกจากบริการที่ครบวงจรภายในท่าเรือข้างต้นแล้ว ยังมีโครงข่ายและการให้บริการที่แข็งแกร่งจากผู้บริหารทั้งสองฝั่ง ในส่วนของ SCG Logistics ที่มีการให้บริการโลจิสติกส์ที่ครบวงจรทั้งในประเทศและต่างประเทศ ทั้งด้านการขนส่งที่ครอบคลุมทุกโหมดการขนส่ง ไม่ว่าจะเป็นทางบก ทางทะเล และทางอากาศ บริการขนส่งสินค้าควบคุมอุณหภูมิ บริการขนส่งสินค้าข้ามพรมแดน บริการขนส่งด่วน และบริการเสริมอื่นๆ เช่น การดำเนินพิธีศุลกากร การดำเนินการขอใบอนุญาตนำเข้าและส่งออก การจัดการเอกสารและภาษี บริการชำระค่าสินค้าและติดตามผู้ขายต่างประเทศ เป็นต้น ประกอบกับในส่วนของ PSA ที่มีโครงข่ายท่าเทียบเรืออยู่มากกว่า 50 แห่งใน 19 ประเทศทั่วโลก พร้อมทั้งเทคโนโลยีการบริหารจัดการท่าเรือและแพลตฟอร์มการเชื่อมต่อที่ทันสมัย

การร่วมมือกันก่อตั้ง Thai Connectivity Terminal ของ PSA และ SCG Logistics ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของท่าเรือของ TCT ที่ได้ยกระดับขึ้นเป็นผู้ให้บริการในเครือข่ายท่าเรือชั้นนำของโลก พร้อมการขยายเครือข่ายผ่านทาง PSA และการให้บริการด้านโลจิสติกส์จาก SCG Logistics ซึ่งทำให้ TCT เป็นท่าเรือที่มีความหลากหลายด้านบริการมากกว่าท่าเรืออื่นในภูมิภาค

การผนวกบริการและโครงข่ายทั้งหมดนี้เข้ากับบริการของท่าเรือ ทำให้ TCT สามารถมอบบริการแก่ลูกค้าได้อย่างครบวงจร อย่างไรก็ตาม ลูกค้าไม่จำเป็นต้องใช้บริการทุกอย่างของท่าเรือฯ แต่เป็นการนำเสนอโซลูชันที่สามารถแก้ปัญหา (pain point) หรือตอบโจทย์ธุรกิจของลูกค้าได้ตรงจุดตามที่ลูกค้าต้องการมากที่สุด ทั้งในแง่ของการเพิ่มประสิทธิภาพ การสร้าง มูลค่าใหม่ๆ ให้กับธุรกิจ หรือลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานแบบครอบคลุมทั่วทั้งซัพพลายเชน โดยเรียกกลยุทธ์การบริการเช่นนี้ว่า ‘Seamless Solutions’

อนึ่ง การเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้ ยังแสดงให้เห็นว่า TCT มีแนวทางการให้บริการที่เน้นการสนับสนุนธุรกิจของลูกค้าให้ทำงานได้เต็มประสิทธิภาพ โดยการคัดสรรบริการที่สามารถเชื่อมต่อซัพพลายเชนธุรกิจของลูกค้าได้อย่างไร้รอยต่อ

“เป้าหมายของเรา ไม่ใช่แค่การนำเสนอบริการเพียงอย่างเดียว แต่เรามีความมุ่งมั่นที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการต่อยอดธุรกิจของลูกค้าต่อไปในอนาคต ในฐานะพันธมิตรทางธุรกิจที่พร้อมเติบโตไปด้วยกัน”

คุณชรินทร กล่าวปิดท้าย


อัพเดตข่าวสารและบทความที่น่าสนใจในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ก่อนใคร ผ่าน Line Official Account @Logistics Mananger เพียงเพิ่มเราเป็นเพื่อน @Logistics Manager หรือคลิกที่นี่

บทความก่อนหน้านี้ผู้อำนวยการบริหารท่าเรือ Los Angeles ยืนยันพร้อมปฏิบัติการ สู้ศึก COVID-19
บทความถัดไปKonecranes ได้รับคำสั่งซื้อเครน RTG 20 ตัวจากไนจีเรีย
Satida Tinarak is a fresh writer who loves to read political novels or even constitutional law. Politics news is a subject that she never gets tired of.