TNSC แถลงข่าวสถานการณ์การส่งออกเดือนมกราคม แนะเตรียมรับผลกระทบ COVID-19

0
1963

เมื่อวันอังคารที่ 3 มีนาคมที่ผ่านมา คุณกัณญภัค ตันติพิพัฒนพงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) แถลงข่าวร่วมกับคุณวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธาน คุณจินตนา ศิริสันธนะ เลขาธิการ และนายคงฤทธิ์ จันทริก ผู้อำนวยการบริหาร แถลงข้อมูลการส่งออกเดือนมกราคม 2020 มีมูลค่า 19,626 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัว 3.35 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน (YoY) การส่งออกในรูปเงินบาทเท่ากับ 587,494 ล้านบาท หดตัว 4.63 เปอร์เซ็นต์  เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน (YoY) ในขณะที่ การนำเข้าในเดือนมกราคม 2019 มีมูลค่า 21,181 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัว 7.86 เปอร์เซ็นต์  เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันปีก่อน (YoY) และการนำเข้าในรูปของเงินบาทมีมูลค่า 643,511 ล้านบาท หดตัว 14.82 เปอร์เซ็นต์  เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันปีก่อน (YoY) ส่งผลให้ เดือนมกราคม 2020 ประเทศไทยขาดดุลการค้า 1,556 ล้านเหรียญสหรัฐ และ 56,017 ล้านบาท (การส่งออกเมื่อหักทองคำและน้ำมันเดือน ม.ค. หดตัวร้อยละ 0.6) (การส่งออกเมื่อหักทองคำและน้ำมันเดือน ม.ค. หดตัวร้อยละ 0.6)

การส่งออกในเดือนมกราคม กลุ่มสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรหดตัวที่ 6.3 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน (YoY) โดย สินค้าที่ยังขยายตัว ได้แก่ น้ำตาลทราย ยางพารา ไก่สดแช่แข็งและแปรรูป เครื่องดื่ม ขณะที่กลุ่มที่หดตัว ได้แก่ ข้าว ผัก ผลไม้สด แช่แข็งและแปรรูป ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง กุ้งสดแช่แข็งและแปรรูป

กลุ่มสินค้าอุตสาหกรรม ขยายตัว 5.2 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน (YoY) โดยกลุ่มสินค้าที่มีการขยายตัว ได้แก่ ทองคำ รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน เครื่องสำอาง สบู่ และผลิตภัณฑ์รักษาผิว ขณะที่สินค้ากลุ่มที่หดตัว อาทิ นาฬิกาและส่วนประกอบ เครื่องรับวิทยุ โทรทัศน์และส่วนประกอบ แผงวงจรไฟฟ้า สินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เป็นต้น

ทั้งนี้ สรท. คงคาดการณ์การส่งออกไทยในปี 2020 เติบโต 0-1 เปอร์เซ็นต์  บนสมมติฐานค่าเงินบาท 30.5 บาทต่อเหรียญสหรัฐ ขณะที่ ปัจจัยเสี่ยงที่อาจเป็นอุปสรรคสำคัญประกอบด้วย

1) ตลาดหดตัวลงจากผลกระทบ COVID-19 ทั้งด้านการผลิตและโลจิสติกส์ระหว่างประเทศและในจีน โดยแบ่งเป็น 1.1) ผลกระทบต่อซัพพลายเชนกับจีนที่ต้องหยุดชะงัก โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้ายานยนต์และชิ้นส่วน เม็ดพลาสติก เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ ผักผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็ง ซึ่งอาจทำให้ขาดแคลนวัตถุดิบและกระทบต่อการผลิตทั้งของไทยและจีน โดยคาดว่าจะเริ่มเห็นผลกระทบชัดเจนจากการส่งออกในเดือนกุมภาพันธ์ 2020

1.2) กระแส Disrupt ในระบบโลจิสติกส์ทั้งทางเรือ ทางอากาศ และทางถนน ถึงแม้โรงงานและระบบศุลกากรจีนจะเริ่มกลับมาทำงานบ้างแล้ว แต่พนักงานยังไม่สามารถกลับมาทำงานได้เต็มจำนวน ทำให้เกิดปัญหาความแออัดในท่าเรือและการตกค้างของสินค้า ประกอบกับเกิดต้นทุนส่วนเพิ่มจากการเรียกเก็บค่า congestion surcharge โดยเฉพาะตู้สินค้าเย็นที่ต้องใช้ในกลุ่มผักและผลไม้สด และ

2. ผลกระทบของภัยแล้งที่คาดว่าจะรุนแรงในปี 2020 ส่งผลต่อปริมาณสินค้าเกษตรที่ออกสู่ตลาดลดลง ไม่เพียงพอต่ออุปสงค์ทั้งภายในและต่างประเทศ อาทิ ข้าว มันสำปะหลัง และผลไม้ตามฤดูกาล เป็นต้น

ทั้งนี้ สรท. คาดการณ์สถานการณ์ COVID-19 ในปัจจุบันว่ามีโอกาสส่งผลกระทบที่รุนแรงต่อการส่งออกและนำเข้าของไทย ภายใต้สมมติฐานว่าถ้าการส่งออกไปจีนได้รับผลกระทบ 75 เปอร์เซ็นต์  ถึง 25 เปอร์เซ็นต์  เรียงจากเดือนกุมภาพันธ์ที่คาดว่าน่าจะได้รับผลกระทบมากที่สุดที่ 75 เปอร์เซ็นต์  เดือนมีนาคม ได้รับผลกระทบ 50 เปอร์เซ็นต์  และเดือนเมษายนถึงมิถุนายน ได้รับผลกระทบ 25 เปอร์เซ็นต์  ตามลำดับ ซึ่งจะทำให้การส่งออกของไทยในช่วงไตรมาส 1/2020 หดตัวประมาณ 3.6 เปอร์เซ็นต์  ไตรมาส 2/2020 หดตัวประมาณ 2.91 เปอร์เซ็นต์  และครึ่งปีหลัง 2020 หดตัวประมาณ 3.3 เปอร์เซ็นต์

อัพเดตข่าวสารและบทความที่น่าสนใจในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ก่อนใคร ผ่าน Line Official Account @Logistics Mananger เพียงเพิ่มเราเป็นเพื่อน @Logistics Manager หรือคลิกที่นี่

บทความก่อนหน้านี้DHL ปฏิบัติภารกิจเพื่อ James Bond ตอนที่ 25 ‘No Time to Die’
บทความถัดไปOOCL อัปเดทข้อมูลการปฏิบัติการในจีน เกาหลี ญี่ปุ่น สิงคโปร์ อิตาลี และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
Pichanon Paoumnuaywit
tech and history geek, who enjoys hunting and photographing dark skies and milky way