Yusen Logistics ยกระดับคุณภาพองค์กร ด้วย Yusen Excellence System

0
4941

การพัฒนาองค์กรอย่างไม่หยุดยั้ง นับเป็นพันธกิจสำคัญของทุกองค์กรโดยเฉพาะในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ ซึ่ง Yusen Logistics (Thailand) Co., Ltd. (YLTH) ผู้มอบบริการโลจิสติกส์ในแดนสยามมายาวนานกว่าห้าทศวรรษ ก็มีการผลักดันองค์กรสู่มาตรฐานใหม่ๆ ด้วยทีมงานที่ช่วยเปิดโอกาสให้พนักงานในทุกตำแหน่ง มีส่วนร่วมในการสร้างความแตกต่างให้กับองค์กร โดยทีมงานดังกล่าวมีชื่อว่า Quality Performance Improvement Group (QPI) ซึ่งมี Mr. Paul Carnell เป็นผู้นำทีม

นิตยสาร LM ฉบับนี้ ได้รับโอกาสพูดคุยกับ Mr. Paul Carnell, คุณปรเมศวร์ โพธิ์เกษมศานต์ ผู้จัดการทั่วไป Systems Management (Quality & Safety) Team และ คุณมธุกร กัณฑศรี ผู้ช่วยผู้จัดการทั่วไป Continuous Improvement (Kaizen) Team เกี่ยวกับแผนการผลักดันพนักงานและองค์กรสู่ศักยภาพที่เหนือกว่าอย่างต่อเนื่อง

The Excellence System

Mr. Carnell คุณปรเมศวร์ และคุณมธุกร เป็นส่วนสำคัญของระบบงาน Yusen Excellence System (Y.E.S.) อันเป็นฟันเฟืองหลักในการพัฒนาประสิทธิภาพอย่างไม่หยุดยั้งขององค์กร ซึ่งพัฒนาขึ้นบนพื้นฐานของปรัชญา ‘Kaizen’ ที่เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมองค์กรใน NYK Group ที่เป็นบริษัทแม่ของ Yusen Logistics ทั้งยังเป็นปรัชญาที่ทีมกล่มุงาน นำมาปรับใช้ในการปรับปรุงองค์กรในทุกภาคส่วนอีกด้วย

“ระบบงาน Y.E.S. สร้างมาตรฐานงานบริการให้แก่องค์กร Yusen Logistics ทั่วโลก โดยลูกค้าในทุกภูมิภาคจะไดรับบริการคุณภาพสูงแบบเดียวกันทั้งหมด เปรียบเสมือนน้ำอัดลมยี่ห้อหนึ่งในกรุงปักกิ่ง มีรสชาติเหมือนกันกับน้ำอัดลมยี่ห้อเดียวกันในกรุงลอนดอน ทั้งนี้ การที่บริษัทสามารถสร้างมาตรฐานในระดับโลกเช่นนี้ได้ ก็ด้วยการใช้ประโยชน์จากมาตรฐาน ISO 9001 ISO 14001 และ OHSAS 18001” Mr. Carnell กล่าว

หัวใจหลักของการปรับปรุงประสิทธิภาพการปฏิบัติงานของ Yusen Logistics ประกอบไปด้วยแนวคิดสามข้อ คือ Gemba, Kaizen และการเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมการเติบโตขององค์กร

Mr. Paul Carnell
ผู้จัดการทั่วไปอาวุโส
หัวหน้าทีม Quality Performance Improvement Group (QPI)

Gemba เป็นแนวคิดที่มีรากฐานจากวัฒนธรรมการทำงานของชาวญี่ปุ่น โดยใจความสำคัญของ Gemba คือการเข้าไปตรวจตราขั้นตอนการปฏิบัติงานเพื่อค้นหาแนวทางในการปรับปรุง ด้วยการทำความเข้าใจในขั้นตอนการปฏิบัติงานนั้นอย่างลึกซึ้ง ซึ่งในการนี้ ผู้จัดการระดับสูงจำเป็นต้องลงมาตรวจตราหน้างานเป็นครั้งคราว เพื่อประเมินข้อผิดพลาด และหารือกับผู้ปฏิบัติงานถึงความเป็นไปได้ในการปรับปรุงวิธีปฏิบัติงาน

โดยสิ่งสำคัญอันดับหนึ่งของทีมงาน QPI คือ การชี้แจงให้พนักงานทุกคนทราบถึงเป้าหมายในการดำเนินงานของ Mr. Carnell และทีมงาน ที่ไม่ได้เป็นการออกคำสั่งเพื่อปรับเปลี่ยนวิธีปฏิบัติงานตามที่กำหนด หรือการประเมินดัชนี KPI ของพนักงานแต่ละคน หากแต่เป็นการร่วมกันเฟ้นหาแนวคิดในการเปลี่ยนแปลง เพื่อการพัฒนาที่แท้จริงสำหรับองค์กรโดยรวม

ซึ่งกระบวนการหารือเพื่อต่อยอดแนวคิดในการปรับปรุงประสิทธิภาพ ระหว่างทีมงาน QPI และพนักงาน ถูกเรียกว่า ‘Gemba Walk’ ซึ่งเป็นการตัดขั้นตอนการปฏิบัติงานที่สูญเปล่าหรือเกินความจำเป็น รวมถึงมองหาโอกาสปรับปรุงองค์กร ภายใต้แนวปรัชญา Kaizen

คุณปรเมศวร์ ได้กล่าวถึงขั้นตอนย่อยในกระบวนการ Gemba Walk ซึ่งทีมงาน QPI ใช้วิธีการชี้แนะให้ผู้ปฏิบัติงานเข้าใจ แทนที่จะใช้วิธีการออกคำสั่งให้ปฏิบัติตามว่า “เรามีวิธีการที่เรียกว่า Behaviour Based Safety หรือ BBS ซึ่งเป็นการตักเตือนและแนะนำพนักงานในเชิงบวกแทนการลงโทษ เช่น เมื่อพบว่ามีการขับขี่รถยกสินค้าเร็วเกินไป เราก็จะอธิบายให้พนักงานรับรู้ถึงอันตรายที่อาจเกิดจากการขับขี่เร็ว ซึ่งเราปรับใช้วิธีการนี้กับทั้งส่วนงานขนส่งสินค้าและคลังสินค้า จนเกิดเป็นการเปลี่ยนแปลงในวัฒนธรรมรักษาความปลอดภัย (Safety Culture) ขององค์กร”

Yusen’s Base Standard

Yusen Logistics แบ่งแผนการปรับปรุงมาตรฐานการปฏิบัติงานออกเป็นสี่ส่วน เริ่มต้นจากการประเมินความปลอดภัยขั้นพื้นฐานในขั้นตอนปฏิบัติงาน จากนั้นจึงเป็น การพัฒนาคุณภาพมาตรฐานการปฏิบัติงานในทุกสถานปฏิบัติงาน ซึ่งจะนำไปสู่ขั้นตอนที่สามคือ การเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนการปฏิบัติงานในแต่ละสถานปฏิบัติงานด้วยขั้นตอนการปฏิบัติงานที่ปรับปรุงแล้ว และขั้นตอนสุดท้ายคือ การสร้างมาตรฐานขึ้นจากขั้นตอนการปฏิบัติงานที่ปรับปรุงแล้ว

คุณมธุกร กัณฑศรี ผู้ช่วยผู้จัดการทั่วไป Continuous Improvement (Kaizen) Team

“การปรับปรุงงานของเราสามารถเริ่มต้นได้ทั้งจากการรับมอบหมายจากผู้บริหาร (Top down) และจากผู้ปฏิบัติหน้างาน (Bottom up) ซึ่งก็คือการเข้าไปศึกษากระบวนการทำงานที่สามารถ
ปรับปรุงได้ ให้มีผลลัพธ์ที่ดีขึ้น จากการเข้าไปสังเกตการณ์หน้างานร่วมกับพนักงานที่ปฎิบัติงาน
หรือจากการตรวจสอบตัวเลขสถิติต่างๆ ในบันทึกข้อมูล เช่น ข้อมูลงบกำไรขาดทุน ข้อมูลความเสียหาย หรือดัชนีชี้วัดผลการปฎิบัติงาน KPI (Key Performance Indicator) ของผู้ปฎิบัติงาน” คุณมธุกร อธิบาย

หลังจากนั้น ทีมงาน QPI จะเข้าไปทำการตรวจสอบ เพื่อหาสาเหตุของปัญหาดังกล่าว และปรึกษากับผู้ปฏิบัติงานจริง เพื่อรับฟังความคิดเห็น “เมื่อเราทราบถึงปัญหาแล้ว เราจำเป็นต้องศึกษาสภาพปัจจุบันจากหน้างานจริงและสอบถามกับผู้ปฏิบัติงาน เพื่อเก็บข้อมูลและทำความเข้าใจ รวมถึงวิเคราะห์หาสาเหตุของปัญหาได้ถูกต้อง แล้วจึงดำเนินการหาแนวทางแก้ไขร่วมกับผู้ที่เกี่ยวข้องจากนั้นกำหนดเป็น มาตรฐานการปฏิบัติงาน เพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติและป้องกันมิให้เกิดปัญหาซ้ำ ซึ่งสอดคล้องกับค่านิยม 3C’s ของ Yusen Logistics คือ Connected, Committed และ Creative ที่มุ่งเน้นให้พนักงานมีส่วนร่วมในการแบ่งปันข้อมูลและความคิดสร้างสรรค์” คุณมธุกรกล่าว

Fundamental Factors

แนวคิดที่สอง อันเป็นหัวใจหลักของการปรับปรุงประสิทธิภาพการปฏิบัติงาน คือการพัฒนาคุณภาพการบริการเพื่อตอบรับความต้องการของลูกค้า พร้อมกับลดต้นทุนการปฏิบัติงานในเวลาเดียวกัน ซึ่งตรงกับหลักปรัชญา Kaizen ที่ Yusen Logistics ในภูมิภาคยุโรป ได้พิสูจน์ถึงประสิทธิภาพที่เพิ่มพูนขึ้น ผ่านการแข่งขันที่อิงจากพื้นฐานปรัชญา Kaizen ที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี ซึ่งเปิดกว้าง สำหรับทีมงานจากทุกสาขาของ Yusen Logistics ในยุโรป เพื่อมุ่งส่งเสริมให้พนักงานก้าวขึ้นมาปรับปรุงและสร้างความเปลี่ยนแปลงในการปฏิบัติงานในหน่วยงานของตนเอง โดย Mr. Carnell อธิบายว่า การปฏิบัติงานภายใต้ทัศนคติที่มุ่งมั่นปรับปรุงการปฏิบัติงาน เพื่อคุณภาพของบริการและประสิทธิภาพขององค์กรที่เพิ่มพูนขึ้นแบบนี้ ก็สามารถนำมาปรับใช้กับ Yusen Logistics ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้เช่นกัน

คุณปรเมศว์ โพธิ์เกษมศานต์ ผู้จัดการทั่วไป Systems Management (Quality & Safety) Team

“แนวทางขององค์กร คือ การปฏิบัติงานเพื่อรักษาและพัฒนาระบบมาตรฐาน พร้อมกับสร้าง
ความพึงพอใจสูงสุดแก่ลูกค้า” คุณปรเมศวร์ กล่าวเสริม พร้อมกับเผยว่า ในกระบวนการสร้างบริการคุณภาพภายใต้มาตรฐานระดับโลก พร้อมการรับรองมาตรฐาน ISO นั้น ทีมงาน QPI มีส่วนสำคัญในการผลักดันให้ Yusen Logistics (Thailand)
ยกระดับองค์กรขึ้น ด้วยการริเริ่มพัฒนาบริการใหม่ๆ เพื่อสนองตอบความต้องการของลูกค้าที่เพิ่มขึ้น

“เราเพิ่มศักยภาพขององค์กร และริเริ่มมอบบริการใหม่ๆ ที่เราไม่เคยทำมาก่อน โดยการผลักดันองค์กรสู่มาตรฐานรองรับคุณภาพในระดับที่สูงขึ้น เพื่อตอบสนองความไว้วางใจและความต้องการที่ลูกค้ามอบให้กับพวกเรา” คุณปรเมศวร์ กล่าว

การเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมองค์กร ซึ่งเป็นแนวคิดข้อที่สาม เป็นสิ่งที่ Mr. Carnell เชื่อว่าสร้างความแตกต่างให้ Yusen Logistics เหนือกว่าผู้ให้บริการโลจิสติกส์รายอื่นได้อย่างแท้จริง ซึ่งก็คือ การปลูกฝังความรู้สึกมีส่วนร่วมในการปรับปรุงกระบวนการทำงานให้กับพนักงาน โดยไม่ได้ทำให้พวกเขารู้สึกว่าเป็นการออกคำสั่ง แต่ใช้วิธีการสร้างความเข้าใจ พร้อมกระตุ้นให้พนักงานมีส่วนร่วมและรู้สึกภูมิใจกับผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง “วัฒนธรรมองค์กรนี้ เป็นกุญแจสำคัญที่นำไปสู่บริการที่มีคุณภาพมากขึ้น ต้นทุนการผลิตที่ต่ำลง และการปฏิบัติงานที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ซึ่่งสิ่งเหล่านี้สร้างความสบายใจให้แก่ลูกค้า รวมทั้งสร้างข้อได้เปรียบทางการตลาดให้แก่องค์กรด้วย”
Mr. Carnell กล่าวสรุป

ท่ามกลางการแข่งขันที่ไม่มีสิ้นสุดของผู้ให้บริการโลจิสติกส์ ที่ต่างสรรหากรรมวิธียกระดับคุณภาพบริการ เพื่อมาตรฐานที่โดดเด่น Yusen Logistics (Thailand) มุ่งพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ภายใต้กระบวนการปรับปรุงประสิทธิภาพองค์กรของกลุ่มงาน QPI ที่มุ่งมั่นสร้างความแตกต่างอย่างไม่หยุดยั้ง ด้วยการเปิดรับแนวคิดและข้อชี้แนะของพนักงานทุกตำแหน่ง ในทุกภาคส่วน โดยมีหลักปรัชญา Kaizen เป็นแกนกลางในการปฏิบัติงาน

อัพเดตข่าวสารและบทความที่น่าสนใจในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ก่อนใคร ผ่าน Line Official Account @Logistics Mananger เพียงเพิ่มเราเป็นเพื่อน @Logistics Manager หรือคลิกที่นี่

บทความก่อนหน้านี้Volvo Trucks เปิดตัวรถบรรทุกรุ่นใหม่ที่ใส่ใจคนขับมากขึ้น
บทความถัดไปDB Schenker นำร่องใช้ฟอร์คลิฟท์ระบบอัตโนมัติ